นำ TK park ให้เติบโตท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21
อุทยานการเรียนรู้ “TK park” ครบรอบ 14 ปี ประกาศพร้อมเป็นพลังสำคัญร่วมสร้างสรรค์สังคมไทยสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ในยุค “Digital Disruption” ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ด้วยแนวคิด Learning to Learn เรียนรู้ที่จะเรียน พร้อมแถลงข่าวเปิดตัว “กิตติรัตน์ ปิติพานิช” ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้คนใหม่ล่าสุด กับพันธกิจการบริหารและพัฒนา TK park ให้เป็นอุทยานการเรียนรู้ตลอดชีวิต เสวนาในหัวข้อ “ทำไมต้องเรียน รู้ที่จะเรียน” โดย แคน – นายิกา ศรีเนียน ศิลปินหญิงเดี่ยว อดีตสมาชิกวง BNK 48, ริบบิ้น-นิชาภา นิศาบดี เยาวชนในโครงการ TK แจ้งเกิด นักดนตรี พิธีกรและครีเอทีฟ และ “หนุ่มเมืองจันท์” สรกล อดุลยานนท์ นักเขียนและคอลัมนิสต์ชื่อดัง และเปิดตัว 14 แฟนพันธุ์แท้ที่ยืมหนังสือและเข้าใช้บริการอุทยานการเรียนรู้สูงสุดในปี 2561 ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ “TK park” หน่วยงานในสังกัด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดวิสัยทัศน์เกี่ยวกับภารกิจสำคัญในฐานะที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งผู้บริหารอุทยานการเรียนรู้ TK park เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาว่า ตามแนวคิดหลักที่เราจะใช้ในการขับเคลื่อน TK park ในปีนี้ คือ Learning to Learn เรียนรู้ที่จะเรียน และวางเป้าหมายการบริหารและพัฒนาอุทยานการเรียนรู้นี้ไว้ 3 แนวทาง
ประการแรกคือการสร้างสรรค์พื้นที่เรียนรู้ต้นแบบแห่งศตวรรษที่ 21 มุ่งเน้นการสร้างต้นแบบและกิจกรรมการเรียนรู้ด้านนวัตกรรม ก่อนจะนำไปใช้ในการพัฒนาเครือข่ายทั่วประเทศ โดยใช้ศาสตร์ของ Design Thinking & Service Design ให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงในโลกดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาทสำคัญกับไลฟ์สไตล์ประจำวันเป็นอย่างมาก แต่กระนั้นแม้ว่าสื่อ หรือ นวัตกรรมจะเปลี่ยนแปลงไป แต่การเรียนรู้ไม่มีวันตาย เพียงต้องปรับตัวให้ได้ ซึ่งนับเป็นโจทย์ใหญ่ที่เราต้องวางแผนและทำให้การเรียนรู้เดินหน้าต่อไปอย่างไร้อุปสรรค ซึ่งกิจกรรมจะสะท้อนหลักการขององค์กร สอดคล้องกับทุกกลุ่มเป้าหมาย มุ่งให้ TK park เป็นมากกว่าพื้นที่แห่งการเรียนรู้ นั่นคือการเป็นต้นแบบของการแก้ปัญหาโดยใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลางผ่านโครงการ Solution Lab ที่จะช่วยประสานความร่วมมือและสร้างแนวคิดเพื่อแก้ปัญหาในสังคม
ประการที่สองคือการสร้างความตื่นตัวในการเรียนรู้ คิดเป็น และทำเป็น ให้ขยายไปทั่วประเทศ ซึ่งตามแผนของเราในปี พ.ศ. 2562 นี้ จะมีการเปิดบริการอุทยานการเรียนรู้เครือข่ายใหม่อีก 2 แห่ง ได้แก่ อุทยานการเรียนรู้ศรีสะเกษ และอุทยานการเรียนรู้นราธิวาส และมีความร่วมมือกับท้องถิ่นในการสนับสนุนการก่อตั้ง อุทยานการเรียนรู้สุราษฎ์ธานี อุทยานการเรียนรู้บุรีรัมย์และอุทยานการเรียนรู้เบตง ซึ่งการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ในภูมิภาค จะมีการพัฒนาการเชื่อมต่อ การดูแลคุณภาพ ประสิทธิภาพ โดยใช้ Digital Technology และการสร้าง Innovation Capacity ให้เครือข่ายสามารถสร้างนวัตกรรมทางการให้บริการ พร้อมเน้นพัฒนาฟังก์ชั่นและฐานข้อมูล TK Public Online Library เพื่อขยายขอบเขตการให้บริการการเรียนรู้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทั้งในส่วนของ TK Application ที่ได้รวบรวมหนังสือเสียง นิทานภาพ และหนังสือที่อ่านสนุกเป็นภาพเคลื่อนไหวพร้อมเสียงพากย์ และเกมต่างๆ
ประการสุดท้าย คือ การสร้างแนวร่วมและเครือข่ายการอ่านการเรียนรู้ทุกภาคส่วนให้เข้มแข็ง ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย และกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนรุ่นใหม่ โดยในปีนี้ กิจกรรมเด่น ได้แก่ TK Forum งานเสวนาวิชาการนานาชาติ ที่จะจัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนนี้ ในหัวข้อเกี่ยวกับการออกแบบพื้นที่เรียนรู้แห่งอนาคต แนะให้แนว จัดในช่วงเดือนมิถุนายน เป็นกิจกรรมที่จะช่วยให้เยาวชนค้นหาตนเองก่อนการเลือกเส้นทางการเรียนในอนาคต และ ทีเคแจ้งเกิด กิจกรรมบ่มเพาะเยาวชนที่สนใจในสายดนตรีและนักเขียนเพื่อเรียนรู้และสร้างสมประสบการณ์และทักษะในวิชาชีพนั้นๆ
“ในด้านภาพรวมของอุทยานการเรียนรู้ TK park การเรียนรู้ตลอดชีวิตยังคงเป็นปัจจัยหลักของการทำงาน แต่เราจะลงลึกไปทางด้านการเตรียมความพร้อมสำหรับการก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ทั้งทางด้านความรู้ ทักษะ และการคิด ที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงในอนาคตสำหรับทุกช่วงวัย ซึ่งปัจจุบันมีแพลต ฟอร์มและช่องทางการสื่อสารใหม่ๆ ที่มีผลต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ของคนเรา แน่นอนว่าในยุคสมัยนี้ เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา พฤติกรรมการเรียนรู้ผ่านการอ่านหนังสือ หรือ สื่อสิ่งพิมพ์เริ่มลดลง คนหันมาเสพสื่อผ่านสมาร์ทโฟน หรือ ช่องทางการอ่านออนไลน์กันมากขึ้น แต่กระนั้นผมมองว่า การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมันจะต้องสามารถประสานรวมองค์ความรู้จากสื่อที่หลากหลายทั้งดิจิทัลและอะนาล็อค เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ฉะนั้นหัวใจของการเรียนรู้ในยุคนี้ก็คือ การรู้จักวิธีการเรียนรู้และวิธีการคิด และ นำกลับมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับตัวเราได้ดีที่สุดมากกว่าครับ” ผอ.อุทยานการเรียนรู้ TK park กล่าว
นายกิตติรัตน์ ยังกล่าวเสริมว่า “ผมวางเป้าหมายสำหรับการทำงานของ TK park ไว้เป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกปีนี้ เริ่มจากเรื่องการส่งเสริมทักษะและความรู้ให้กับบุคลากรขององค์กร ติดอาวุธด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้เหมาะสมกับความต้องการที่แตกต่างกันของคนในองค์กร รวมทั้งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อให้ตอบโจทย์สังคมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีการปรับปรุงพื้นที่การอ่านของ TK park ชั้น 8 ในคอนเซ็ปต์ใหม่ Urban Living Room ที่ผสมผสานพื้นที่การอ่านในหลายมิติ ทั้งการเรียนรู้ด้วยตนเอง และการแบ่งปันพื้นที่เพื่อพบปะสังสรรค์ เรียนรู้ และทำงานร่วมกัน (Think-Pair-Share) คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ และสุดท้ายคือการหาพื้นที่ถาวรเพื่อยกระดับให้ TK park เป็นพื้นที่เรียนรู้ที่อยู่คู่สังคมไทย
ผู้อำนวยการคนใหม่ตั้งเป้าว่าในอีก 3 ปี จะสามารถผลักดันให้ TK park เป็นผู้นำในการแก้ปัญหาด้วยความคิดสร้างสรรค์ผ่าน Solution Lab และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับประเทศในอาเซียน ทั้งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ วิทยากร นวัตกรรม ผ่านกิจกรรมสัมมนา เสวนานานาชาติ ประชุมวิชาการ หรือแลกเปลี่ยนคณะทำงาน เพื่อจะได้แบ่งปันความรู้สำหรับการเตรียมพร้อมประชากรสู่ศตวรรษหน้าต่อไป
พิเศษ!l ในช่วงวันที่ 24 – 27 มกราคม 2562 เพียง 4 วันเท่านั้น TK park มอบโปรโมชั่นสมัครฟรีฉลอง 14 ปี เพียงแสดงแอปพลิเคชั่น TK Online Library ที่ติดตั้งไว้ในสมาร์ทโฟน หรือ แท็บเล็ต รับฟรีทันทีคูปองสมัครสมาชิก 1 ปี สมาชิกปัจจุปัน หรือ ผู้ที่มีบัตรสมาชิกอายุไม่เกิน 6 เดือน ต่ออายุสมาชิก TK park ฟรีทันที รีบมาสมัครกันได้ที่เคาน์เตอร์บริการสมาชิกด้านหน้า อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 Dazzle Zone ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ (เพียงแสดงบัตรประชาชนของตนเอง เพื่อรับโปรโมชั่นนี้ 1 ท่านต่อ 1 สิทธิ์เท่านั้น)
เกี่ยวกับอุทยานการเรียนรู้ TK park
อุทยานการเรียนรู้ TK park เปิดให้บริการครั้งแรกในวันที่ 24 มกราคม 2548 ช่วง14 ปีที่ผ่านมา มีผู้เข้าใช้บริการแล้วกว่า 6 ล้านคน มีการยืม-คืนหนังสือและสื่อการเรียนรู้ ประมาณ 4 แสนครั้งต่อปี ล่าสุดได้ขยายเครือข่ายอุทยานการเรียนรู้เต็มรูปแบบ จำนวน 25 แห่งในพื้นที่ 19 จังหวัด เครือข่ายแหล่งเรียนรู้ชุมชน Mini TK จำนวน 20 แห่ง และผนึกกำลังกับ 7 หน่วยงานภาคี นำร่องสร้างสรรค์เครือข่ายศูนย์เรียนรู้ใกล้บ้าน 202 แห่ง มุ่งลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ สนับสนุนกระบวนการเรียนรู้สาธารณะ มุ่งเพิ่มทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเองของเด็ก เยาวชนและประชาชนทั่วไป อันจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพชุมชนอย่างยั่งยืน