สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมใหญ่ผู้นำองค์กรกำกับดูแลด้านกิจการโทรคมนาคมในภูมิภาคอาเซียนครั้งที่ 25 หรือที่เรียกกันว่า “การประชุม 25th ASEAN Telecommunication Regulators’ Council (ATRC) and Related Meetings” และการประชุมที่เกี่ยวข้องภายใต้กรอบอาเซียน ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีภายใต้การเข้าเป็นสมาชิกของ ASEAN รวมถึง “การประชุม 2nd ASEAN Telecommunications and information Technology Senior Officials Meetings – ASEAN Telecommunication Regulators’ Council (TELSOM-ATRC) Leaders’ Retreat ซึ่งเป็นการประชุมต่อเนื่อง ในระดับผู้นำอาวุโสเพื่อนำหลักจากการประชุม ATRC ที่จะนำมาต่อยอดเป็นโครงการและนำเสนอความคืบหน้าของโครงการต่างๆ ตลอดจนการนำผลที่ได้ไปใช้เพื่อประโยชน์ของประเทศสมาชิก โดยการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 23 สิงหาคม 2562 ณ โรงแรมอนันตรา ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ รีสอร์ท
การประชุมดังกล่าวที่กำลังจะมีขึ้น สืบเนื่องมาจากปี 2017 ที่ได้มีการหารือเรื่องแนวทางการกำกับดูแลบริการประเภท OTT (Over The Top) หรือการให้บริการสื่อคอนเทนต์ ทั้งภาพและเสียงผ่านอินเตอร์เน็ต อาทิ ไลน์ เฟสบุ๊ค ยูทูบ เป็นต้น จนถึงครั้งนี้ที่ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพใหญ่การประชุมของผู้นำองค์กรกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมในภูมิภาคอาเซียน หรือการประชุม ATRC ครั้งที่ 25 โดยหัวข้อที่สำคัญในการประชุมครั้งนี้คือ เรื่องกิจการที่ให้บริการเนื้อหาที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง (OTT), เรื่องความคืบหน้าการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมในประเทศสมาชิกอาเซียน และเรื่องข้อแนะนำอาเซียนว่าด้วยการบริการอย่างทั่วถึงในอนาคต สำหรับระบบนิเวศบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างทั่วถึงว่าจะมีแนวทางในการดำเนินกิจการอย่างไร
สำหรับวันที่ 19 ส.ค. 2562 ก่อนการการประชุม ATRC จะเริ่มขึ้น จะมีการประชุมในประเด็นที่สำคัญ เน้นไปที่เรื่อง OTT เพื่อหารือและพิจารณาแนวทางการกำกับดูแลและการเก็บอัตราค่าบริการเพื่อได้ข้อยุติร่วมกันทั้งหมด โดยไทยจะเสนอแนวทางเกี่ยวกับการดำเนินการที่จะกำกับดูแล OTT แนวทางที่จะดึงรายได้จาก OTT เข้าสู่ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน
ทั้งนี้ การประชุมหารือดังกล่าวในวันที่ 19 ส.ค. จะต้องได้ข้อสรุปก่อนที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมเอทีอาร์ซี (ATRC) ว่าจะมีแนวทางในการกำกับดูแลในเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งประเทศไทยมีแนวคิดที่จะเสนอแนวทางที่สร้างสรรค์เพื่อให้ตอบโจทย์กรอบความร่วมมือ เพื่อนำไปสู่แนวทางกำกับดูแลบริการ OTT อย่างเป็นรูปธรรม และเพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจ OTT ดำเนินการได้ในกลุ่มประเทศอาเซียน แนวทางประกอบไปด้วย 3 แนวทางหลัก คือ 1) แนวทางที่กระทำแล้วไม่ก่อให้เกิดภาระกับผู้ใช้บริการ OTT 2) ประเทศที่มีการให้บริการ OTT จะได้รับส่วนแบ่งหรือการสนับสนุนจากผู้ให้บริการ OTT ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และ 3) ธุรกิจ OTT จะเป็นธุรกิจที่ได้รับการดูแลเพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์หลัก
หากแนวคิดดังกล่าว ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมอาเซียน สำนักงาน กสทช. จะต้องนำไปรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะผู้ประกอบการโทรคมนาคม ผู้ให้บริการ OTT รวมถึงความคิดเห็นที่สำคัญจากประชาชนผู้ใช้บริการ เพื่อให้ได้แนวทางที่ดีที่สุด ที่จะนำมาปรับใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศสมาชิกต่อไป