กรุงเทพฯ 13 กรกฎาคม 2562 – สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับ จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น จัดกิจกรรม “จิตอาสาพระจอมเกล้าลาดกระบัง ปี 2” (KMITL Volunteer Trip) ภายใต้โครงการ “ลาดกระบังโมเดล” เพื่อหล่อหลอมความมีจิตสาธารณะ และรับใช้สังคมของนักศึกษา ทั้งในด้านการประยุกต์ใช้องค์ความรู้เพื่อพัฒนาชุมชน ร่วมใจในการปรับปรุงทัศนียภาพของชุมชนหัวตะเข้ ลาดกระบัง และร่วมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยการส่งต่อความรู้ นวัตกรรม และความเชี่ยวชาญของเหล่าคณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรของสถาบันเข้าไปประยุกต์ อาทิ การขุดลอกลำคลอง พายเรือเก็บขยะ เพื่อเปิดทางน้ำไหลและปรับภูมิทัศน์บริเวณแหล่งน้ำเลียบชุมชน การจัดเวิร์คช็อปให้ความรู้และสาธิตการพัฒนาถังดักไขมันดีไอวาย เพื่อจัดการไขมันหรือของเสียในครัวเรือน การปรับปรุงราวสะพานให้มีสภาพพร้อมใช้งาน การปรับปรุงศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้วิถีถิ่นหัวตะเข้ เพื่อเอื้อต่อการศึกษาเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ และการให้บริการตรวจวัดสุขภาพ โดย สจล. มุ่งหวังว่ากิจกรรมจิตอาสาพระจอมเกล้าลาดกระบังครั้งนี้ จะสามารถเป็นหนึ่งในโมเดลต้นแบบของการพัฒนาชุมชนโดยรอบสถาบันการศึกษา แก่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วประเทศ ในการพัฒนาชุมชนให้น่าอาศัยและมีสภาพแวดล้อมที่ดีได้ในอนาคต
ทั้งนี้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้จัดกิจกรรม “จิตอาสาพระจอมเกล้าลาดกระบัง ปี 2” (KMITL Volunteer Trip) ภายใต้โครงการ “ลาดกระบังโมเดล” ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ตลาดเก่าหัวตะเข้ เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สจล. โทรศัพท์ 02-329-8111 เว็บไซต์ www.kmitl.ac.th หรือ www.facebook.com/kmitlnews
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. ในฐานะมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งผสานทั้งองค์ความรู้และการใช้นวัตกรรมเข้ามาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พักอาศัย และพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพด้านวิชาการ และการมีจิตสาธารณะของเหล่าคณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรของสถาบัน ด้วยการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบ ตามแนวพระราชดำริ
“KING MODEL” ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) ที่บ่งชี้ถึงคุณลักษณะของชุมชนที่น่าอยู่ไว้ดังนี้
1) สภาพแวดล้อมภายในชุมชนเอื้อต่อการพักอาศัย 2) คนในชุมชนมีสุขอนามัยที่สมบูรณ์ แข็งแรง ตลอดจนมีความรู้ความเข้าใจในการรักษาสุขอนามัย 3) คนในชุมชนมีสิทธิ์การเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม 4) สามารถประกอบอาชีพ ได้ด้วยผลิตภัณฑ์
อันเป็นอัตลักษณ์ประจำชุมชน และ 5) ชุมชนมีสภาพสังคมภายในที่ดี สมัครสมานสามัคคี และมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ภายในชุมชนที่เหมาะสม
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า โดยล่าสุด สจล. ได้สานต่อโมเดลดังกล่าว ด้วยการผสานความร่วมมือกับ
จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. และ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น จัดกิจกรรม “จิตอาสาพระจอมเกล้าลาดกระบัง ปี 2” (KMITL Volunteer Trip) กิจกรรมจิตอาสาพัฒนาชุมชนหัวตะเข้ บริเวณโรงเรียนเชิดเจิมศิลป์ คลองประเวศบุรีรมย์ และคลองลำปาทิว โดยทำการจัดตั้งจุดบริการและลงพื้นที่บำเพ็ญประโยชน์ในด้านต่างๆ ตามความรู้และความเชี่ยวชาญของเหล่าคณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรของสถาบัน อาทิ
• ลดการใช้รถ 1 วันเพื่อลดมลพิษทางอากาศ ลดการใช้ขวดน้ำและพาชนะพลาสติก เพื่อลดปริมาณขยะ
• ปรับปรุงศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้วิถีถิ่นหัวตะเข้ ให้เอื้อต่อการศึกษาเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่
• ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกในชุมชน ออกแบบราวสะพานไม้ ขัดและทาสีแลคเกอร์สะพาน เพื่อให้เกิดความสวยงาม พร้อมติดตั้งให้แก่ชุมชนหัวตะเข้ โดยความร่วมมือของคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
• จัดคลินิกเคลื่อนที่ เพื่อให้บริการตรวจสุขภาพของประชาชนในชุมชน อาทิ วัดความดัน วัดความสูง และวัดองค์ประกอบร่างกาย โดยหน่วยบริการทางการแพทย์จากคณะแพทย์ศาสตร์ สจล.
• ขุดลอกลำคลอง พายเรือเก็บขยะ และเรือเครื่อง เพื่อเปิดทางน้ำไหล บริเวณโรงเรียนเชิดเจิมศิลป์ คลองประเวศบุรีรมย์ และคลองลำปาทิว โดยความร่วมมือกับสำนักงานเขตลาดกระบัง หน่วยงานทหาร จิตอาสาพระราชทาน และจิตอาสาพระจอมเกล้า
• เก็บขยะบกที่ตกค้างบริเวณริมคลอง จากโรงเรียนเชิดเจิมศิลป์ ถึง ปากทางคลองลำปาทิว เพื่อฟื้นฟูสภาพแหล่งน้ำเลียบชุมชน โดยคณะเทคโนโลยีการเกษตร
• จัดเวิร์คช็อปให้ความรู้ พร้อมสาธิตการประดิษฐ์ถังดักไขมัน เพื่อช่วยชุมชนบริหารจัดการไขมันหรือของเสียในครัวเรือน และสำรวจความต้องการเพื่อทำติดตั้งในอนาคต โดยคณะเทคโนโลยีการเกษตร
• จัดเวิร์คช็อปว่าวทำมือ เพื่อเป็นของที่ระลึกแก่ผู้ร่วมกิจกรรม โดยชุมชนหัวตะเข้
ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมจิตอาสาพระจอมเกล้าลาดกระบัง ด้วยการใช้ “ลาดกระบังโมเดล” ในครั้งนี้ จัดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 ภายใต้ยุทธศาสตร์ “เคเอ็มไอทีแอล 60 โก โก” (KMITL 60 GO GO) โดยมุ่งหวังให้เป็นหนึ่งในโมเดลต้นแบบของการพัฒนาชุมชนโดยรอบสถาบันการศึกษาแก่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วประเทศ พร้อมทั้งผลักดันกระบวนการหล่อหลอมจิตสาธารณะในการเป็นบุคคลและบัณฑิตที่พร้อมรับใช้สังคมในอนาคต ตามพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 อันเป็นการสะท้อนภาพการเป็นสถาบันฯ อันทรงคุณค่าของชุมชน ทั้งด้านวิชาการ และการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันของสถานศึกษา อย่างไรก็ดี สจล. ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาและจัดสรรพื้นที่ต่างๆ ภายในสถาบัน เพื่อเปิดพื้นที่ให้ชุมชนโดยรอบสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ทางวิชาการ และการใช้ประโยชน์เชิงพื้นที่ อันสอดคล้องกับนโยบายการเป็นศูนย์กลางแหล่งเรียนรู้ของชุมชน ควบคู่ไปกับการจัดอบรมให้ความรู้แก่ชุมชนและประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าวสรุป
ทั้งนี้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้จัดกิจกรรม “จิตอาสาพระจอมเกล้าลาดกระบัง ปี 2” (KMITL Volunteer Trip) ภายใต้โครงการ “ลาดกระบังโมเดล” ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ตลาดเก่าหัวตะเข้ เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สจล. โทรศัพท์ 02-329-8111 เว็บไซต์ www.kmitl.ac.th หรือ www.facebook.com/kmitlnews