เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2563 ณ อาคารประชาสังคมอุดมพัฒน์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดงานแถลงข่าวเปิด ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (Thailand Physical Activity knowledge Development centre : (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “ความสำคัญของกิจกรรมทางกายกับคนไทย บนชีวิตวิถีใหม่” มุ่งผนึกกำลังภาคีเครือข่ายฟื้นระดับการมีกิจกรรมทางกายของคนไทยให้กลับคืนสู่ระดับปกติ หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างหนัก
ผศ.ดร.เอื้อมพร มัชฌิมวงศ์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายการคลัง มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล มีความเชี่ยวชาญในการผลิตผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ เพื่อใช้แก้ปัญหาและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและสังคม โดยเฉพาะประเด็นสุขภาพ จึงร่วมกับ สสส. สนับสนุนให้เกิดการดำเนินงานศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการให้สอดคล้องต่อสถานการณ์เพื่อการพัฒนาประเทศและสังคมโลก รวมถึงประเด็นการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงต่อสุขภาพ ดังที่ ศาสตราจารย์ ดร.ฟีโอนา บูล ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกาย จากองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า “สถานการณ์และทิศทางในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในระดับโลกเป็นเรื่องจำเป็นต้องได้รับการให้ความสำคัญ โดยใช้กลไกของศูนย์วิชาการเป็นระบบสนับสนุนให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ”
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส กล่าวว่า ข้อมูลจาก TPAK ช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของคนไทยลดลงจากร้อยละ 75 มาอยู่ที่ร้อยละ 55 จึงจำเป็นต้องฟื้นฟูระดับการมีกิจกรรมทางกายของคนไทยเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว สสส. ขับเคลื่อนการดำเนินงานโดยใช้ยุทธศาสตร์ไตรพลัง ได้แก่ 1.การรณรงค์สื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักผ่านสื่อสาธารณะและการสื่อสารหลายลักษณะ 2.การร่วมขับเคลื่อนให้เกิดนโยบายซึ่งจะเป็นพลังที่ส่งผลกระทบสู่สังคมวงกว้าง และ 3.พลังความรู้ถือเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนและผลักดันนโยบายที่ต้องใช้ข้อมูลทางวิชาการที่เชื่อถือได้ TPAK เป็นกลไกสนับสนุนข้อมูลการศึกษาวิจัยองค์ความรู้เรื่องกิจกรรมทางกายในมิติทางประชากร และสังคม เพื่อให้ภาคีเครือข่ายและประชาชนที่สนใจนำข้อมูลไปใช้ในประกอบแผนและแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของประชากรไทย พร้อมเชื่อมประสานและสนับสนุนการทำงานของภาคีเครือข่ายทั้งเชิงนโยบาย องค์ความรู้ทางวิชาการ และสังคม ตลอดจนพัฒนาฐานข้อมูล เครื่องมือรวบรวมข้อมูลทางสังคม การวิเคราะห์แนวโน้ม การติดตามและประเมินผล เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่มีมาตรฐานทางวิชาการระดับสากล เป็นพลังสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนให้ประเทศไทยและคนไทยมีสุขภาวะ
รศ.ดร.อารี จำปากลาย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จัดตั้ง TPAK เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในมิติประชากรและสุขภาพ มุ่งเน้นการดำเนินการวิจัยที่มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับทางวิชาการในระดับสากล สนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ องค์ความรู้ ฐานข้อมูล เพื่อนำไปใช้ในการสื่อสารสาธารณะส่งเสริมกิจกรรมทางกายของประชากรไทย โดยพัฒนาองค์ความรู้ตั้งแต่ข้อมูลสถานการณ์ต่าง ๆ และฐานข้อมูลด้านกิจกรรมทางกายเพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจเชิงนโยบาย การวิจัย และพัฒนารูปแบบการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและลดพฤติกรรมเนือยนิ่งสำหรับประชากรในทุกช่วงวัย กระตุ้นให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น การวิเคราะห์เชิงนโยบาย รวมถึงนวัตกรรมเชิงกระบวนการทางสังคม
ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา หัวหน้า TPAK สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า TPAK มีข้อเสนอแนะ 5 มาตรการ หรือ 5 ปมในการมีกิจกรรมทางกายและลดพฤติกรรมเนือยนิ่งของประชากรไทย โดย TPAK คือ 1.การรณรงค์เพื่อสื่อสารและสร้างการรับรู้เกี่ยวกับความหมายและประโยชน์ของกิจกรรมทางกายในหลากหลายมิติ 2.การเผยแพร่แนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องและสร้างแรงจูงใจในการมีกิจกรรมทางกายจากที่บ้าน 3.การสนับสนุนให้ชุมชนเป็นฐานในการริเริ่มการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและการใช้ประโยชน์สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะอย่างปลอดภัย 4.การส่งเสริมให้เกิดความร่วมรับผิดชอบอย่างจริงจังในการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายเพื่อสร้างเสริมทักษะและพัฒนาการตามช่วงวัยในเด็กและเยาวชน และ 5.การส่งเสริมให้เกิดการยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยและปลอดเชื้อในการจัดกิจกรรมสุขภาพและกีฬามวลชน
ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ กล่าวต่อว่า TPAK พัฒนาระบบเฝ้าระวังและติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย สนับสนุนการส่งเสริมนโยบายระดับชาติเป็นแผนการสงเสริมกิจกรรมทางกาย (พ.ศ. 2561-2573) โดยดำเนินโครงการโรงเรียนฉลาดเล่น ด้วยกระบวนการวิจัยและพัฒนาเกิดเปนโมเดล “เล่น เรียน รู้” ให้แก่เด็กนักเรียน และได้เป็นต้นแบบโครงการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กขององค์การอนามัยโลก และกรณีศึกษาในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ตลอดจนพัฒนาเป็นชุดคู่มือส่งเสริมการเรียนรู้ 3 มิติ “เล่น-เรียน-รู้” สำหรับโรงเรียน พร้อมดำเนินโครงการ “Thailand Report Card Global Matrix 3.0” สำรวจการมีกิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชนไทย ร่วมกับ 50 ประเทศทั่วโลก
นำไปสู่การใช้เป็นฐานข้อมูลในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การส่งเสริมกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอและเหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชนไทย “TPAK มีเป้าหมายการดำเนินงาน 3 ระยะ คือ ระยะ 1 พัฒนาองค์ความรู้เพื่อให้เกิดความพร้อมในการสนับสนุนการทำงานของภาคีเครือข่าย ระยะ 2 ขับเคลื่อนการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 TPAK มีการปรับแนวทางการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการของสังคม ภาคีที่เกี่ยวข้องได้ใช้ประโยชน์ และระยะ 3 องค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายที่ถูกพัฒนาขึ้นจะได้รับการยอมรับและนำไปใช้ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม รวมถึงผลผลิตทางวิชาการได้รับการนำไปอ้างอิงทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ให้สอดคล้องและสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนงานส่งเสริมกิจกรรมทางกายตามเป้าหมายทั้งในระดับชาติและระดับโลก” ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ กล่าว