กระทรวงสาธารณสุข จัดงาน 25 มิถุนายน วันไอโอดีนแห่งชาติ เปิดตัวแพลตฟอร์ม “อนามัยไอโอดีน” เพื่อเป็นการปรับกระบวนทัศน์ ขจัดโรคขาดสารไอโอดีน ยุคโควิด-19 ตั้งเป้าใช้ขับเคลื่อนให้เกิดชุมชน/หมู่บ้านไอโอดีนครบทั่วประเทศในปี 2570
วันนี้ (25 มิถุนายน 2564) ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานรณรงค์เนื่องในวันไอโอดีนแห่งชาติ (25 มิถุนายน) ณ โถงอาคาร 1 กรมอนามัย โดยมี นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย และผู้บริหารกรมอนามัย ร่วมงาน
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนเป็นเรื่องสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยได้รับสารไอโอดีนเพียงพอ ซึ่งสถานการณ์โรคขาดสารไอโอดีนภาพรวมของประเทศขณะนี้พบว่า กลุ่มเด็กปฐมวัย เด็กวัยเรียน และผู้สูงอายุ ได้รับสารไอโอดีนเพียงพอ สำหรับในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์แม้ว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ยังพบพื้นที่ขาดสารไอโอดีนอยู่ 26 จังหวัด โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนความครอบคลุมการใช้เกลือเสริมไอโอดีนในครัวเรือน พบเพียงร้อยละ 80.2 ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานของ WHO ในปี 2564 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีนโยบายให้ชุมชน/หมู่บ้านทั่วประเทศ เป็นชุมชน/หมู่บ้านไอโอดีนภายในปี 2570 โดยขับเคลื่อนผ่านแพลตฟอร์ม “อนามัยไอโอดีน” ตามแผนปฏิบัติการด้านการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ ระยะที่ 1 ปี 2565-2570 เพื่อประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งจำหน่ายเกลือเสริมไอโอดีนและผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีน รวมทั้ง มีความสะดวกในการค้นหาร้านอาหารที่ปรุงอาหารโดยใช้เกลือและผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีน
ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การพัฒนาระบบการประเมินชุมชน/หมู่บ้านไอโอดีนในรูปแบบดิจิทัลแพลตฟอร์มนั้น เพื่อให้ชุมชนสามารถประเมินตนเองได้ง่ายและสะดวก มากยิ่งขึ้น ทำให้รู้ว่าพื้นทึ่ใดเสี่ยงต่อการขาดสารไอโอโอดีน และจะพัฒนาให้พื้นทึ่นั้นไม่ขาดสารไอโอดีนได้อย่างไร โดยดูจากเกณฑ์การประเมินชุมชนหมู่บ้านไอโอดีน พร้อมทั้งกระตุ้นให้ผู้ประกอบการร้านอาหารใช้เกลือเสริมไอโอดีนและผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีน ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เกลือบริโภคทุกชนิด รวมทั้งเกลือที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารต้องเป็นเกลือเสริมไอโอดีน โดยต้องมีไอโอดีน 20-40 มิลลิกรัมต่อเกลือ 1 กิโลกรัม และกำหนดให้น้ำปลา ซีอิ้ว ซอสปรุงรส และน้ำเกลือปรุงอาหารต้องเติมสารไอโอดีนไม่น้อยกว่า 2 และไม่เกิน 3 มิลลิกรัมต่อผลิตภัณฑ์ 1 ลิตร หรือใช้เกลือเสริมไอโอดีนเป็นส่วนผสม เพื่อให้ประชาชนได้รับไอโอดีนในปริมาณที่เหมาะสม
“ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปหากใช้เกลือเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพ สามารถสังเกตได้จากฉลากที่มีคำว่าเกลือบริโภคเสริมไอโอดีนบนซองเกลือและมีเลข อย.กำกับ กินวันละไม่เกิน 1 ช้อนชา หรือเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสที่เสริมไอโอดีนตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับการกินอาหารที่มีไอโอดีนตามธรรมชาติ ก็สามารถได้รับไอโอดีนอย่างเพียงพอ เพราะแม้ว่าร่างกายต้องการไอโอดีนเพียงวันละน้อย แต่ต้องการทุกวัน ไอโอดีนจึงจำเป็นสำหรับทุกวัน และทุกวัย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว