นับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา กระทรวง อว. โดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ได้จัดงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ” ซึ่งเป็นกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปีในช่วงเดือนสิงหาคม เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 18 สิงหาคมของทุกปี แต่ในปีนี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิค-19 จึงได้เลื่อนการจัดงานไปเป็นช่วงเดือนพฤศจิกายน ระหว่างวันที่ 9–19 พฤศจิกายน 64 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี พร้อมจัดขึ้นในรูปแบบไฮบริดอีเว้นท์ ที่ผสมผสานระหว่างการเข้าชมงานในฮอลล์ หรือเลือกรับชมจากที่บ้านก็ได้ ภายใต้แนวคิด “ศิลปะ วิทยาศาสตร์ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Art – Science – Innovation and Creative Economy)”
งานมหกรรมวิทย์ฯ ในปีนี้เป็นการจัดแสดงงานที่ตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม “BCG Model : Bio – Circular – Green Economy” และเป็นครั้งแรกของการจัดกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (1st BCG Science Fair in SEA) ที่จุดประกายความคิด สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยนิทรรศการที่จัดภายในงานจะเน้นเรื่องการออกแบบนิทรรศการที่คำนึงถึงการใช้ผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด การใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยลดหรือประหยัดทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และการให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียจากการผลิตและบริโภค ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพเพื่อกลับมาใช้ใหม่ (Recycle, Upcycle) ซึ่งต่างจากระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ที่เน้นการใช้ทรัพยากร การผลิต และการสร้างของเสีย
นอกจากนั้น ยังสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เยาวชนได้มีบทบาทภายในงานมากขึ้น มีส่วนร่วมและมีการแสดงออกมากขึ้น เช่น การแสดงละครวิทยาศาสตร์ กิจกรรมการสื่อสารวิทยาศาสตร์ รวมถึงให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านกิจกรรมแบบออนไลน์ และการจัดนิทรรศการทั้งในและต่างประเทศ มุ่งเน้นเนื้อหาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน มีความเป็นสากลและมุ่งเน้นการนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก 78 หน่วยงาน 7 ประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ให้แก่เยาวชนไทย ให้คิดอย่างสร้างสรรค์ มีเหตุมีผล มองรอบด้าน โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นพื้นฐาน นำไปสู่การต่อยอดความคิดสู่การเป็นนวัตกรรุ่นใหม่ของประเทศในอนาคต ตลอดจนโชว์ศักยภาพผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่นำไปใช้ได้จริง ตามกรอบนโยบายที่ท่านรัฐมนตรีมอบให้
นิทรรศการโลกดิจิทัลไร้พรมแดนกับเทคโนโลยี5G (Experience the Limitless Life with 5G) มีที่มาจากแนวคิด โลกก้าวสู่เทคโนโลยี5Gอย่างเป็นทางการ จากเทคโนโลยีเครือข่ายติดต่อสื่อสารได้สร้างโอกาสใหม่ๆ ในการเชื่อมต่อทุกสรรพสิ่งทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน สังคม ธุรกิจ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การผลิต และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่ดิจิทัลซึ่งแต่ละประเทศต่างใช้ 5G ในการช่วงชิงความได้เปรียบ และต่อรองอำนาจทางเศรษฐกิจด้วยกันทั้งสิ้น
กว่า 50 % ของการจัดแสดงในบูธเป็นการสร้างประสบการณ์ให้กับเด็กๆและเยาวชนได้เข้าใจว่า เทคโนโลยี 5G นำมาต่อยอดใช้งานในอนาคตได้อย่างไรบ้าง น้องๆจะมีโอกาสสัมผัส ทดลองสิ่งต่างๆที่อยู่ในบูธ โดยไฮไลท์ของบูธคือ รถยนต์ไร้คนขับ แว่นตา VR (Virtual Reality) เป็นการจำลองสภาพแวดล้อมจริงเข้าไปให้เสมือนจริงและแว่น MR (Mixed Reality) เป็นการสร้างบางสื่งขึ้นมาเชื่อมโยงกับโลกจริง ซึง MR เป็นศาสตร์ที่ต่อยอดจาก AR
จากโทรศัพท์มือถือเครื่องแรกเมื่อ50ปีก่อนวันนี้ถูกพัฒนาจนสามารถช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้กับมนุษย์ได้อย่างมากมายในอนาคตเทคโนโลยีเหล่านี้จะยิ่งถูกพัฒนาให้ก้าวไกลมากขึ้นซึ่งไม่มีใครรู้แน่นอนว่าอีก50ปีข้างหน้าผลิตภัณฑ์บริการหรือวิถีชีวิตของมนุษย์จะเปลี่ยนไปในทิศทางใดภายใต้นวัตกรรมใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น
พบกับนิทรรศการโลกดิจิทัลไร้พรมแดนกับเทคโนโลยี5G (Experience the Limitless Life with 5G)ที่งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติประจำปี2564ระหว่างวันที่9–19 พ.ย.นี้ณ อิมแพ็คเมืองทองธานีในรูปแบบไฮบริดอีเว้นท์เพื่อเรียนรู้เรื่อง 5G ไปพร้อมๆ กัน