โครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมทั่วทิศแผ่นดินไทย กระทรวงวัฒนธรรมโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จัดการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุด ลักษมีสีดา โดยจัดแสดงทั่วประเทศ ถือเป็นของขวัญจากรัฐบาล เพื่อสร้างความสุขให้กับประชาชน ในโอกาสสำคัญต่าง ๆ และการมีเวทีระดับประเทศที่เปิดโอกาสให้เยาวชนทั่วประเทศได้แสดงความสามารถ อีกทั้ง เพื่อส่งเสริม สืบสาน ทำนุบำรุงและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมการแสดงโขน ตามที่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ – ยูเนสโก (The United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) ได้ขึ้นทะเบียนให้โขนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ อันเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย ทั้งยังเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกให้แก่เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยในระดับชาติ
กำหนดจัดแสดงตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 – กันยายน 2565 จำนวน 14 ครั้ง ใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร ดังนี้
วันที่ 5 ธันวาคม 2564 จัดแสดงที่งานเกลือศิลป์ สร้างสรรค์ ริมเขื่อนศาลเจ้าพ่อหลักเมือง จังหวัดสมุทรสาคร
วันที่ 7 ธันวาคม 2564 จัดที่งานวัฒนธรรมรวมใจถวายความภักดีน้อมสำนึก เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร วันชาติและวันพ่อแห่งชาติ โรงละครแห่งชาติ ภาคตะวันตก จังหวัดสุพรรณบุรี
วันที่ 18 ธันวาคม 2564 จัดแสดงที่งานยอยศยิ่งฟ้า อยุธยา มรดกโลก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วันที่ 20 ธันวาคม 2564 จัดแสดงในงานวันสมเด็ตพระนางเจ้ารำไพพรรณี มหาวิทยาลัยราชภัฏ รำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี
วันที่ 23 ธันวาคม 2564 จัดแสดงในงานเที่ยวไทยสไตล์พรีเมียม ครั้งที่ 27 ณ ทรูไอคอนฮอลล์ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม
วันที่ 26 ธันวาคม 2564 จัดแสดงในงานฤดูหนาว อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จังหวัดเชียงใหม่
วันที่ 17 มกราคม 2565 จัดแสดงที่วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ประจำปี พ.ศ. 2565 ที่ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
วันที่ 12 – 13 กุมภาพันธ์ 2565 วิทยาลัยนาฎศิลปนครราชสีมา จัดการแสดง ณ จังหวัดชัยภูมิ
วันที่ 3 – 6 มีนาคม 2565 วิทยาลัยนาฎศิลป กาฬสินธุ์ จัดแสดงในงานมหกรรมโปงลาง แพรวา กาฬสินธุ์ ที่ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์หลังเก่า
วันที่ 4 – 6 มีนาคม 2565 วิทยาลัยนาฎศิลปร้อยเอ็ด จัดแสดงในงานบุญผะเหวดประจำปี 2565 ที่บริเวณบึงพลาญชัย อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด
วันที่ 2 เมษายน 2565 จัดแสดงในวันอนุรักษ์มรดกไทย ที่วังเก่า-วังใหม่ จังหวัดพัทลุง
วันที่ 25 – 28 กรกฎาคม 2565 จัดแสดงเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 70 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามรธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ณ เวทีสนามหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช
เดือนสิงหาคม 2565 วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง จัดแสดงในงานรำลึกเสด็จประพาสต้นล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ที่ศาลากลางจังหวัดอ่างทอง และครั้งที่ 14 ที่จังหวัดลพบุรี
ในงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการวันที่ 16 ธันวาคม 2564 ที่บริเวณหน้าพระอุโบสถบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) มีนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในการแถลงข่าว โดยได้กล่าวถึงความสำคัญของโขน มรดกทางวัฒนธรรมอันจับต้องไม่ได้ขององค์การยูเนสโก และนางนิภา โสภาสัมฤทธิ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กล่าวถึงรายละเอียดโครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมทั่วทิศแผ่นดินไทย ร่วมด้วยนายประเมษฐ์ บุณยะชัย ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์) พ.ศ. 2563 ผู้จัดทำบทการแสดง นางสาวทัศนีย์ ขุนทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย – คีตศิลป์) พ.ศ. 2555 ผู้บรรจุเพลงร้องในการแสดง รศ.ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์) พ.ศ. 2548 ผู้กำกับการแสดง ร่วมด้วย ผศ.บุญพาด ฆังคะมะโน จากคณะศิลปวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ดำเนินรายการโดย ผศ.พหลยุทธ กนิษฐบุตร และดร.สุรัตน์ จงดา
นอกจากนี้ ยังมีศิษย์เก่าจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ได้แก่ “โจ้” สุธีศักดิ์ ภักดีเทวา และ “เต๋า” ภูศิลป์ วารินรักษ์ นักร้อง-นักแสดงจากช่องวัน มาร่วมงานด้วย
สำหรับการแสดงโขน เรื่อง รามเกียรติ์ ชุด ลักษมีสีดา จัดการแสดงในโครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ทั่วทิศแผ่นดินไทย สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม อันทรงคุณค่าของชาติไทย และเพื่อเป็นการเผยแพร่การแสดงโขนศิลปะการแสดงชั้นสูงสู่ประชาชนทั่วประเทศ โดยมีหน่วยงานในสังกัด ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 18 แห่ง ประกอบไปด้วยคณะวิทยาลัยนาฏศิลป จำนวน 12 วิทยาลัย และวิทยาลัยช่างศิลป จำนวน 3 วิทยาลัย โดยทำการจัดการเรียนการสอน การแสดง การวิจัย และให้บริการทางวิชาการ ตลอดจนส่งเสริม สืบสาน สร้างสรรค์ ทำนุบำรุงและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ
เนื้อเรื่องกล่าวถึง เรื่องราวของนางสีดาที่ทศกัณฐ์ลักพาไปอยู่ยังกรุงลงกา พระรามยกทัพติดตามมา เพื่อนำนางกลับสู่อโยธยา ก่อให้เกิดศึกสงครามระหว่างมนุษย์กับยักษ์ หลังจากทศกัณฐ์สิ้นส่งผลให้สงครามสิ้นสุด พระรามจึงเชิญสีดากลับไปยังอโยธยา ทั้งนี้เพื่อแสดงความบริสุทธิ์และความรักที่มั่นคงต่อพระราม นางสีดาจึงขอพิสูจน์ตนเอง ต่อหน้าพระรามและเหล่าเทวดาด้วยการลุยไฟ โดยตั้งสัตย์อธิษฐานว่าหากนางซื่อสัตย์ต่อสามีขออย่าให้มีความร้อนมอดไหม้ แต่หากนางไม่บริสุทธิ์ขอให้เปลวไฟเผากายหยาบของนาง จากนั้นเมื่อลุยไฟจึงเกิดปาฏิหาริย์มีดอกบัวบานผุดขึ้นรองรับ พระบาททุกย่างก้าว ไฟมิอาจทำอันตรายต่อนางสีดาได้ จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่านางสีดาเป็นผู้บริสุทธิ์ทั้งกายและใจ บ้านเมืองกลับสู่ความสุขสงบร่มเย็นต่อไป