ผ่านมาแล้วถึง 4 ปี สำหรับเหตุการณ์ภัยพิบัติในความทรงจำของคนไทยทั้งประเทศ สำหรับ เหตุภัยพิบัติถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนและปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือ 13 ชีวิต ทีมหมูป่า อะเคเดมี ภายในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย เหตุการภัยพิบัติระดับโลกที่ยังคงถูกกล่าวขวัญและพูดถึงมาโดยตลอด
โดยในวันที่ 23 มิถุนายน 2565 เป็นวาระครบรอบ 4 ปี ของเหตุการณ์ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จึงเป็นโอกาสในการเปิดเวทีเสวนา “สมุดปกขาว ถ้ำหลวงฯ เหตุภัยพิบัติโลก” เพราะแม้ว่าตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาจะมีหลากหลายเรื่องราวจากปฏิบัติการครั้งนั้นได้ถูกถ่ายทอดและเล่าต่อไปมากมาย แต่สำหรับบางเรื่องราวยังคงถูกเก็บไว้ในลิ้นชัก ซึ่งครั้งนี้ถึงเวลาเปิดลิ้นชักเรื่องราวใหม่เพื่อบอกเล่าเหตุการณ์ภัยพิบัติถ้ำหลวง ในอีกแง่มุม ผ่านสารคดี “THUM LUANG RESCUE POWER OF UNITY รวมพลัง กู้ภัย ถ้ำหลวงฯ” โดย มูลนิธินักทำลายใต้น้ำจู่โจม ร่วมกับ ไทยพีบีเอส สร้างสรรค์ขึ้น ทั้งนี้ เรื่องราวบางส่วนจะถูกหยิบยกนำมาพูดคุยบนเวทีเสวนา 3 Section คือ Emergency , Unity และ Supreamacy เพื่อเป็นกรณีศึกษาในการปฏิบัติงานเหตุภัยพิบัติ โดยได้บุคคลสำคัญ คือ คุณเอื้อย ศศิวิมล บุคคลที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน และเป็นบุคคลผู้ควบคุมการผลิตสารคดีฯ มาร่วมพูดคุยกับผู้ร่วมเสวนาทั้ง 3 Section
การเสวนาใน Section 1 : Emergency ได้รับเกียรติจากบุคคล 4 ท่าน ได้แก่ พลเรือตรีอาภากร อยู่คงแก้ว รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 อดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ คุณณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นาวาเอกอนันท์ สุราวรรณ์ รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ และคุณกอบชัย บุญอรณะ อดีตรองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทา สาธารณะภัย โดยใน Section 1 นี้ ทั้ง 4 ท่านได้ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ตรงในฐานะบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่จริง ตลอดจนถ่ายทอดความรู้ในการรับมือกับเหตุภัยพิบัติ
การเสวนาใน Section 2 : Unity ได้รับเกียรติจากวิทยากร 5 ท่าน ได้แก่ ดร.กัมปนาถ ขวัญศิริกุล ผอ.ส่วนวิศวกรรมธรณี กรมชลประทาน คุณจงคล้าย วรพงศธร รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม คุณรัตน์ สันตอรรณพ กรรมการอาวุโส บริษัท ช.การช่าง และนาวาเอกสุริยันต์ สำราญใจ ผู้บังคับการศูนย์การฝึกสงครามพิเศษทางเรือ ซึ่งทั้ง 4 ท่านเป็นส่วนสำคัญในการทำให้ภารกิจนี้สำเร็จลุล่วง ไปด้วยความเรียบร้อย หัวใจสำคัญคือ การรวมกันเป็นหนึ่งจากหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะการพร่องน้ำจนสามารถนำทีมหมูป่าทั้ง 13 ชีวิต ออกมาได้อย่างปลอดภัย
และการเสวนาใน Section 3 : Supreamacy ได้รับเกียรติจากเหล่าบุคคลทีมเบื้องหลัง 4 ท่าน ที่มีส่วนร่วมสำคัญในภารกิจถ้ำหลวง ได้แก่ พลเรือตรีศุภชัย ธนสารสาคร ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ พันเอกเจนวิทย์ มะวิญธร นายทหารปฏิบัติการ กรมยุทธการทหารบก รองศาสตราจารย์ ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหน่วยซีลที่ปฏิบัติหน้าที่จากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ
ซึ่งที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากเหล่าบุคคลที่ทำงานในเหตุการณ์จริง เพราะยังมีบุคคลอีกมากมายที่ยังไม่ได้ถูกกล่าวถึงหรืออยู่ร่วมบนเวทีเสวนาครั้งนี้ เวทีเสวนาสมุดปกขาวจึงเปรียบเสมือนเวทีของเหล่าตัวแทนผู้กล้าจากเหตุการณ์ภารกิจค้นหาและกู้ภัยถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ซึ่งการเสวนาในครั้งนี้ทำให้ทราบถึงการทำงานและภารกิจที่สอดแทรกองค์ความรู้การจัดการด้านภัยพิบัติที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ ในอนาคต รวมทั้งแง่มุมใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเปิดเผยที่ใดมาก่อน ตลอดจนได้เห็นมิติของความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่ายแม้จะถูกจำกัดด้วยความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติและภาษา แต่ความสำเร็จจากภารกิจค้นหาและช่วยเหลือ 13 ชีวิต ทีมหมูป่า อะเคเดมี ไม่มีการแบ่งแยก ไม่ใช่ความสำเร็จของใครคนใดคนหนึ่งหรือชาติใดชาติหนึ่ง แต่เป็นของทุกคนที่มีส่วนช่วยให้ภารกิจสำเร็จ
ทั้งนี้พร้อมร่วมเปิดตัวสารคดี “THUM LUANG RESCUE POWER OF UNITY รวมพลัง กู้ภัย ถ้ำหลวงฯ” ออกอากาศทั้งหมด 4 ตอน ในวันอาทิตย์ที่ 17 , 24 , 31 กรกฎาคม และตอนสุดท้ายในวันอาทิตย์ ที่ 7 สิงหาคม เวลา 21.10 น. ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส