สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ร่วมกับ ศูนย์การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (IDE Center) โดยการสนับสนุนของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) จัดพิธีมอบรางวัลให้แก่ทีมผู้ชนะในโครงการ “Hackathon U League for All 2022” จากการนำเสนอผลงานเยาวชน นักศึกษา Gen Z 12 ทีมสุดท้ายที่ได้นำนวัตกรรมดิจิทัลมาประยุกต์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางให้มีชีวิตที่เท่าเทียม
ตลอด 2 เดือน (ก.ค.-ส.ค. 65) ที่ผ่านมา โครงการ Hackathon U League for All 2022 ได้บ่มเพาะผู้เข้าร่วมกิจกรรม สู่การเติบโตทั้งในด้านความคิดสร้างสรรค์ การจัดการและบริหารแนวคิด นวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาให้ประชาชนกลุ่มเปราะบาง โดยมีทีมโค้ชที่เชี่ยวชาญในการผลักดันให้ลงมือทำ อีกทั้งยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทีมอื่นๆ จากหลากหลายสถาบันตลอดเวลา เป็นความท้าทายของการผสานการทำงานร่วมกันของคนทุก Gen เป้าหมายเพื่อใช้นวัตกรรมยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มคนเปราะบาง อันได้แก่ ผู้สูงอายุ คนพิการ และคนด้อยโอกาสผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล
ทีมที่ได้รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ในสาขา Best Impact รางวัลชนะเลิศของทีมที่คิดไอเดียที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับกลุ่มคนเปราะบาง และสามารถสร้างผลกระทบที่ดีต่อสังคมอย่างยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ได้แก่ ทีม Minerva เลือกทำกลุ่มเปราะบาง “ซาเล้ง” โดยต้องการสร้างแพลตฟอร์มเชื่อต่อคนทั่วไปกับซาเล้ง เพื่อช่วยให้คนทั่วไปแยกฝากและขายขยะให้กับซาเล้งได้ง่ายขึ้น ย่นระยะเวลาการเก็บขยะ ความอันตรายของพื้นที่เสี่ยงข้างถนน ทำให้การคัดแยกขยะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้ขยะที่มีคุณภาพสามารถนำไปรีไซเคิล หรือขายต่อได้
ส่วนรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 สาขา Best Innovation รางวัลชนะเลิศของทีมที่คิดไอเดียที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับกลุ่มคนเปราะบางอย่างสร้างสรรค์และสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเท่าเทียม โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ได้แก่ ทีม All Caring เลือกกลุ่มเปราะบาง “ผู้ป่วยติดเตียงที่บ้าน” ที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เล็กน้อยและมีโอกาสหายเป็นปกติได้ โดยมีไอเดียในการนำเทคโนโลยี Face Recognition ในการเก็บข้อมูล Biomatric เพื่อให้ระบบได้เลือกรูปแบบกายภาพ การวัดและการประเมินด้านความปลอดภัยผู้ป่วย จากนั้น เริ่มต้นเข้าอบรมทฤษฎีผ่านออนไลน์และทำแบบทดสอบ ให้ครบตามชั่วโมง โดยมี ระบบ AI ประเมินท่าทางการทำกายภาพเพื่อความถูกต้อง
นอกจากนี้ยังมีทีมที่ได้รองชนะเลิศอันดับ 1 อีก 2 ทีม ได้แก่ ทีม Health Me เลือกทำกลุ่มเปราะบาง “ผู้สูงอายุที่เป็นโรคหัวใจ” และต้องเก็บข้อมูลสุขภาพ ทุกวัน ตามที่แพทย์สั่ง และ ทีม No Roots ที่ทำกลุ่มเปราะบาง “นักเรียนคนตาบอดสนิทเรียนในระดับ ม.1-ม.6” เพื่อช่วยเหลือด้าน เนื้อหาเรียนเข้าใจได้ยากมองไม่เห็นภาพและเพื่อนนักเรียนด้วยกันก็อธิบายไม่ถูกต้องด้วย โดยมีไอเดียใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ ที่สามารถเชื่อมต่อกับมือถือของนักเรียนได้ เมื่อนักเรียนค้นหารูปในเนื้อหาที่เรียน และทีม TikTok Popular Vote ได้แก่ทีม Salmon+ เลือกทำกลุ่มเปราะบาง “ผู้สูงอายุที่อยู่บ้านคนเดียวแต่ต้องการไปเที่ยว” โดยเลือกทำโปรเจ็คเกี่ยวกับการจัดการทริปให้ผู้สูงอายุที่ต้องการไปเที่ยวโดยที่ไม่ต้องรอลูกหลาน
ภายในงานยังได้รับเกียรติจากนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ ที่มาร่วมให้ข้อคิดกำลังใจแก่ผู้ชม อาทิ ชลชาติ พานทอง เยาวชนผู้เคยก้าวพลาดกับชีวิตใหม่ที่เลือกด้วยตัวเอง และ บุญรอด อารีย์วงษ์ ยูทูปเบอร์ผู้สร้างสีสันและเป็นแรงบันดาลใจให้กับอีกหลายคนทางช่อง Poocao Channel เป็นต้น
โดยหวังให้ Prototype ของผลงานที่ได้รับรางวัลและที่ผ่านเข้ารอบสามารถจุดประกายต่อยอดสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการใช้บริการจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น ระบบสวัสดิการแห่งรัฐ การเยียวยาจากรัฐ ไปจนถึงบริการขั้นพื้นฐานต่างๆ เป็นต้น ซึ่งการเพิ่มโอกาสเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเท่าเทียมให้แก่กลุ่มเปราะบางนี้ จะเป็นช่องทางอำนวยความสะดวกต่อการใช้ชีวิตในสังคม หรือการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับคนสูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาสทั่วประเทศ