จากเหตุการณ์ที่มีผู้โพสต์ในวันที่ 16 มิถุนายน 2565 โดยกล่าวถึงบริษัทฯ และมีผลิตภัณฑ์ ยาสีฟันแฮวอนในรูป ทำให้เกิดประเด็นดราม่าแบรนด์แฮวอนฟ้องผู้บริโภค 1,700,000 บาท ที่มาจากข้อมูลข่าวสารที่ไม่ครบถ้วนและทำให้เกิดความเข้าใจผิดจนมีผู้สอบถามเข้ามาถึงเหตุการณ์ดังกล่าว
โดยต่อมาสื่อมวลชนได้ให้ความสนใจนำเสนอข่าวเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีเนื้อหาตามภาพ ทางบริษัทฯ จึงขอชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะยังมีบุคคลที่สามรุกเข้ามาในพื้นที่สื่อของบริษัทฯ คอมเมนต์ด้วยความเข้าใจผิดจากการที่ได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน ซึ่งทางบริษัทฯ มีการดำเนินคดีอาญาในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาทั้งหมด 3 คดี ดังนี้
คดีที่ 1 บริษัทฯ ฟ้อง CEO ของบริษัทยาสีฟันยี่ห้อหนึ่งกับพวกรวม 2 คน ร่วมกันไลฟ์สดกล่าวถึงยี่ห้อแฮวอนให้ได้รับความเสียหาย โดยในวันที่ 19 ตุลาคม 2566 ศาลมีคำพิพากษาให้ บริษัท แฮวอน จำกัด ชนะคดี
คดีที่ 2 บริษัทฯ ฟ้องผู้โพสต์เป็นจำเลยที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (เรียกค่าเสียหายจำนวน 700,000 บาท) โดยวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง ซึ่งบริษัทได้ดำเนินการยื่นอุทธรณ์แล้ว
คดีที่ 3 บริษัทฯ ฟ้องผู้โพสต์เป็นจำเลยที่ 1 กับพวกรวม 3 คน (เรียกค่าเสียหายจำนวน 1,050,000 บาท) โดยวันที่ 18 ตุลาคม 2566 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้บริษัท แฮวอน จำกัด ชนะคดี
ในการดำเนินคดีกับจำเลยนั้นบริษัทฯ ได้พิจารณาถึงเจตนาประกอบพยานหลักฐานเป็นสำคัญ โดยคดีที่ 3 ศาลมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันนำคำพิพากษาของศาลประกาศลงใน Instagram และกลุ่ม Facebook ของจำเลยทั้งสาม เป็นเวลาติดต่อกัน 7 วัน นับแต่ศาลมีคำพิพากษาแต่หากจำเลยทั้งสามไม่ยอมลงข้อความดังกล่าว ให้โจทก์ดำเนินการลงข้อความดังกล่าวแทนจำเลยทั้งสาม เมื่อจำเลยทั้งสามไม่ยอมลงข้อความ บริษัท แฮวอน จำกัด ซึ่งเป็นโจทก์ฟ้องจึงต้องดำเนินการตามคำสั่งศาล และเนื่องด้วยคำพิพากษามีจำนวนหลายสิบหน้าจึงขอสรุปมาพอสังเขป ดังนี้
คดีนี้ บริษัท แฮวอน จำกัด เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามมีเจตนาไม่สุจริต ไม่ใช่ผู้บริโภคโดยตรง จึงไม่มีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้ฐานะผู้บริโภคได้ ซึ่งจำเลยที่ 1 (ผู้โพสต์) มีความเกี่ยวข้องกับตัวแทนขายยาสีฟันยี่ห้ออีฟส์ ส่วนจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนขายยาสีฟันยี่ห้ออีฟส์
จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้ว่า เป็นผู้บริโภคโดยสุจริต มีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้ในฐานะผู้บริโภค
ศาลมีคำพิพากษาว่า
จำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าปกปิดความจริง โดยเจตนาไม่บอกกลุ่มคนในกลุ่ม Facebook ซึ่งอยู่ในกลุ่มมีจำนวน 180,000 กว่าคน และไม่แจ้งว่าจำเลยที่ 1 รู้จักกับบุคคลที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นพี่สาวขายผลิตภัณฑ์ยาสีฟันยี่ห้ออีฟส์ อันเป็นสินค้าที่เป็นคู่แข่งกับโจทก์อยู่ด้วย และไม่บอกความจริงว่ายาสีฟันของโจทก์ที่ใช้นั้นให้ครบถ้วนก่อนว่าครอบครัวของจำเลยที่ 1 ใช้หลายคนไม่มีอาการแพ้ใช้ได้ตามปกติ และหากเกิดการแสบหรือแพ้จำเลยที่ 1 ไม่เคยติดต่อไปยังผู้แทนขายสินค้าของโจทก์เพื่อแจ้งผลดังกล่าวเพราะมีการประกันสินค้าหากไม่เป็นไปตามนั้นหรือเกิดผลกระทบฝ่ายโจทก์จะเป็นผู้ชดใช้ค่าเสียหายและคืนเงินเต็มตามจำนวน หรือใช้สิทธิร้องเรียนค่าเสียหายอื่นในฐานะผู้บริโภค แต่จำเลยที่ 1 ได้แจ้งในกลุ่ม Facebook ออนไลน์ที่ตนเป็นสมาชิกว่าตนได้แจ้งตัวแทนแก่โจทก์ทราบแล้ว ทั้งนี้ หลังจากเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ยังร้องขอความช่วยเหลือจากทนายความของบริษัทอีฟส์ โดยบริษัทดังกล่าวให้ทนายความมาเป็นทนายความในคดีนี้แก่จำเลยทั้งสาม พฤติการณ์เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้โพสต์ข้อความจริงให้ครบถ้วนคงมีผลประโยชน์แอบแฝง โดยเฉพาะจำเลยที่ 1 ได้แท็กข้อความไปยังพี่สาว ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทอีฟส์ และจำเลยที่ 1 รู้จักสนิทสนมกันดีก่อนที่จะโพสต์ข้อความที่ถูกฟ้อง จำเลยที่ 1 ยังโฆษณาผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสินค้าอื่นของบริษัทดังกล่าว ดังนั้นพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหาเป็นการใช้สิทธิในฐานะผู้บริโภคที่ควรมีควรได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามฟ้อง
จำเลยที่ 2 มีพฤติการณ์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ไม่แจ้งให้ผู้เห็นข้อความทราบว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนขายยาสีฟันยี่ห้ออีฟส์ ดังนั้นการแสดงข้อความของจำเลยที่ 2 ตามฟ้องหาเป็นการใช้สิทธิในฐานะผู้บริโภคที่ควรมีควรได้ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการแสดงโดยไม่สุจริต เมื่อข้อความที่ทำให้ทราบว่าใช้ยาสีฟันแฮวอนของโจทก์แล้วเราแสบปาก ขอบปากแดงเลย จำเลยที่ 2 อ้างมาต่อสู้ว่า “เรา” หมายถึงการแสดงความเป็นส่วนตัวนั้นย่อมฟังไม่ขึ้น เนื่องจากได้แสดงต่อสาธารณะทำให้บุคคลอื่นเชื่อได้ว่ายาสีฟันของโจทก์นั้นแปลงแล้ว แสบปากและขอบปากแดงเกิดความเสียหายแก่โจทก์แล้ว ข้อต่อสู้ดังกล่าวจึงไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้
จำเลยที่ 3 แสดงข้อความไม่ได้กระทำโดยสุจริต เนื่องจากข้อความที่โพสต์อ้างว่าใช้ยาสีฟันโจทก์แล้วเยื่อในปากหลุดเยอะมากแต่พอเปลี่ยนมาใช้อีฟส์ไม่เป็นเลยค่ะ ทำให้ทราบถึงการเปรียบเทียบสินค้าว่าของโจทก์เป็นสินค้าไม่ดี แต่จำเลยที่ 3 กลับไม่เคยร้องเรียนต่อคณะกรรมการผู้บริโภค และขณะโพสต์ข้อความตามฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนขายสินค้ายี่ห้ออีฟส์อยู่แต่กลับไม่แจ้งบอก กล่าวอ้าง ปกปิดข้อเท็จจริงในการเป็นตัวแทนขายสินค้าของยี่ห้ออีฟส์ ดังนั้นพฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหาเป็นการใช้สิทธิในฐานะ ผู้บริโภคที่ควรมีควรได้ การกระทำของจำเลยที่ 3 ต่อสู้ว่าได้ใช้สิทธิในฐานะผู้บริโภคโพสต์ข้อความโดยสุจริตนั้น จึงฟังไม่ขึ้น ไม่สามารถยกต่อสู้คำฟ้องโจทก์ได้
ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมาเป็นเงินจำนวน 1,050,000 บาท นั้นไม่มากเกินส่วนกับ ค่าเสียหายที่อาจเกิดขึ้นและเกิดขึ้นแล้วต่อความเสียหายของโจทก์ โดยโจทก์จะต้องให้ตัวแทนหรือบุคคลอื่นแจ้งต่อลูกค้าเดิมหรือบุคคลที่สนใจผลิตภัณฑ์โจทก์โดยเฉพาะตัวแทนของโจทก์แจ้งแก่ลูกค้าและบุคคลภายนอกชี้แจงเกี่ยวกับข้อความที่จำเลยทั้งสามโพสต์ทำให้เกิดความเสียหายและเสียเวลาทั้งยอดสินค้าที่จะขายได้ลดลงมาก กว่าจะนำชื่อเสียงกลับคืนมาได้นั้นยาก อันเนื่องเกี่ยวกับข้อความที่จำเลยทั้งสามโพสต์ ดังนั้นค่าเสียหายนี้เหมาะสมตามส่วนแล้วจึงกำหนดให้โจทก์ตามขอ ทั้งจำเลยทั้งสามได้โพสต์ข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาทนี้ จำเลยทั้งสามต้องรับผิดต่อความเสียหายดังกล่าว…
ทั้งนี้ บริษัทฯ ขอเรียนให้ทุกท่านมั่นใจว่าทางบริษัทฯ ไม่เคยฟ้องร้องผู้บริโภคที่ติชมโดยสุจริต และยินดีรับฟังคำแนะนำเพื่อนำไปพัฒนาต่อ รวมถึงการรักษาคุณภาพสินค้าให้ดีอยู่เสมอ ทางบริษัทฯ ขอขอบพระคุณตัวแทนทุกท่านที่ให้ความไว้วางใจมาโดยตลอด
ขอแสดงความนับถือ
บริษัท แฮวอน จำกัด