12 มกราคม 2567 – สภาผู้บริโภคจัดกิจกรรม “เปิดตัวเบอร์สายด่วนสภาผู้บริโภค 1502” เพื่อประชาสัมพันธ์งานรับเรื่องร้องเรียนและช่องทางร้องเรียนทางโทรศัพท์ ผ่านสายด่วน 1502 รวมทั้งการเผยแพร่บทบาทของสภาผู้บริโภค และสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในการทำงานร่วมกันเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตัวแทนจากหน่วยงานเอกชน สื่อมวลชน รวมทั้งคณะกรรมการนโยบาย ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของสภาผู้บริโภค เข้าร่วมกิจกรรมด้วย
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปส่งผลให้การบริโภคของประชาชนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าและบริการด้วยปลายนิ้ว แต่สิ่งที่มาพร้อมกับความทันสมัยคือผลเสียที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค เช่น การถูกหลอกลวง สินค้าไม่ตรงปก ไม่ได้รับสินค้า ซ้ำร้ายกว่านั้นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ยังสามารถหลอกเอาเงินจากบัญชีไปได้อย่างง่ายดาย หากต้องการจะได้สินค้าและบริการที่ครบถ้วน ก็ต้องร้องเรียน หรือนำเรื่องขึ้นสู่ชั้นศาล ส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนและความเสียหายรุนแรง
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ด้วยเหตุดังกล่าวจึงต้องมี “สภาผู้บริโภค” เพื่อทำหน้าที่คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน และเสนอแนะนโยบายและมาตรการที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้บริโภคทั้งยังสนับสนุนให้เกิดการบริโภคที่ยั่งยืน โดยที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคทำงานร่วมกับหน่วยงานประจำจังหวัด 15 จังหวัดและองค์กรสมาชิกทั่วประเทศในการช่วยเหลือเยียวยาผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เพื่อยกระดับและขยายขอบเขตการคุ้มครองผู้บริโภคให้ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ จึงควรเพิ่ม “สายด่วนสภาผู้บริโภค 1502” ตามแนวนโยบายของท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
“ผมในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค ขอยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญต่อปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มช่องทาง ‘สายด่วนสภาผู้บริโภค 1502’ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และจากนี้ทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องต่อสู้เพียงลำพัง เพราะมีสภาผู้บริโภคช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด” นายสมศักดิ์ระบุ
ด้านนางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคเปรียบเสมือนจุดยุทธศาสตร์สำคัญของการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เพราะการขับเคลื่อนพลังผู้บริโภคในปัจจุบนนั้น ไม่แบ่งแยกเป็นภาค เป็นส่วนที่ต่างคนต่างทำอีกต่อไป แต่เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล เรียกร้อง ผลักดัน และสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่ภาคชนบท สู่พื้นที่เมือง พื้นที่ประเทศ สู่ระดับภูมิภาค และระดับโลกในที่สุด ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่สภาผู้บริโภคและเครือข่ายร่วมกันระดมสมองเพื่อสร้างสรรค์ออกแบบงานคุ้มครองผู้บริโภค มีพื้นที่ให้ผู้บริโภคเข้ามาร้องเรียน ไกล่เกลี่ย และผลักดันเสียงของผู้บริโภคไปสู่ข้อเสนอนโยบายต่อนักการเมือง รวมถึงการสร้างยุทธศาสตร์ในการสร้างอำนาจต่อรองกับกลุ่มทุนใหญ่ เพื่อให้ผู้บริโภคทุกคนในประเทศได้ประโยชน์
“อาคารสำนักงานสภาผู้บริโภคเล็ก ๆ ที่มีอยู่เพียง 7 ชั้นนั้น เมื่อเทียบกับตึกสูงระฟ้าของบริษัทผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่จากทั่วทุกมุมโลก ก็เหมือนมดตัวเล็กๆ แต่มดเล็ก ๆ แบบสภาผู้บริโภคและเครือข่ายหากรวมพลังกันได้จริง ก็จะร่วมกันสร้างอำนาจจนยักษ์ต้องยอมคุกเข่ายอมจำนน” ประธานสภาผู้บริโภคระบุ
นางสาวบุญยืน กล่าวอีกว่า สภาผู้บริโภคมีความคาดหวังว่าเราจะมีพลังในการทัดทานมากเพียงพอที่จะทำให้ผู้ประกอบการหรือกลุ่มทุนใหญ่ลดการเอาเปรียบผู้บริโภคลงได้ นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่สุดและขาดไม่ได้คือผู้บริโภคทุกคนที่เป็นกำลังสำคัญที่จะนำพาประเทศไทยก้าวไปสู่สังคมใหม่ที่เสียงของผู้บริโภคจะได้รับฟัง อำนาจต่อรองจะมีมากขึ้น มีนโยบายรัฐที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค
ส่วน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุว่า สภาผู้บริโภคเริ่มต้นจากการรวมตัวขององค์กรผู้บริโภคจำนวน 152 องค์กรจากทั่วประเทศร่วมกันจัดตั้ง “สภาองค์กรของผู้บริโภค” จนกระทั้งปัจจุบันสภาผู้บริโภคเริ่มดำเนินงานมาแล้วมากกว่า 2 ปี มีจำนวนองค์กรสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 314 องค์กรที่ครอบคลุมพื้นที่ 43 จังหวัดทั่วประเทศไทย ในปีต่อไปสภาผู้บริโภคมีความคาดหวังว่าปีหน้าจะมีองค์กรสมาชิกครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด เพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ทุกจังหวัดในประเทศไทย
นางสาวสารี กล่าวเพิ่มเติมว่า หากดูจากข้อมูลเชิงสถิติ ในปีงบประมาณ 2566 มีผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิผู้บริโภคได้ร้องทุกข์เข้ามาที่สภาผู้บริโภคเป็นจำนวน 16,142 เรื่อง ซึ่งสภาผู้บริโภคได้ช่วยเหลือผู้บริโภคให้ได้รับการชดเชยเยียวยาเสร็จสิ้นทั้งหมด 12,837 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 79 และสามารถคิดรวมเป็นมูลค่าความสำเร็จในการคุ้มครองผู้บริโภคได้ถึง 71,703,984.46 บาท นอกจากนี้ยังได้จัดทำข้อเสนอแนะ ข้อเสนอเชิงนโยบาย และมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งระดับจังหวัดและระดับประเทศรวม 36 เรื่อง แบ่งเป็นนโยบายระดับประเทศ 25 เรื่อง และนโยบายระดับจังหวัด 9 เรื่อง
“สภาผู้บริโภคเดินหน้าคุ้มครองผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นว่ากระบวนการเอาเปรียบต้องยุติเร็วที่สุดและผู้บริโภคต้องสูญเสียน้อยที่สุด และแม้ว่าระหว่างทางจะมีสิ่งที่ท้าทายสภาผู้บริโภคในการช่วยเหลือและผลักดันนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ตลอด ทั้งรูปแบบการหลอกลวงที่มิจฉาชีพปรับเปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง การที่หน่วยงานภาครัฐไม่สนองตอบกับนโยบายที่สภาผู้บริโภคเสนอ หรือปัญหาด้านงบประมาณ อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้นับเป็นความท้าทายของสภาผู้บริโภคที่นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตและยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย” เลขาธิการสภาผู้บริโภคกล่าวทิ้งท้าย
นอกจากนี้ ภายในงานมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจทั้งการแสดงจากทีมเชียร์ลีดดิ้ง มหาวิทยาลัยรังสิต และโชว์เพลงแร็ปเพื่อผู้บริโภค มีจุดรับเรื่องร้องเรียนจากศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ (One-stop Service) และบูธกิจกรรม “เสียงของผู้บริโภคต้องไม่เงียบ (Let’s Shout Our Voice)” ให้ผู้บริโภคได้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก และอีกหนึ่งกิจกรรมเด่นของงานในครั้งนี้คือ รายการ “เราไม่ได้บริโภคหญ้าเป็นอาหาร” ตอนพิเศษ ซึ่งได้เชิญตัวแทนผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากบริการสุขภาพ มาร่วมและเปลี่ยนประสบการณ์และมีการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการร้องเรียน การจัดการแก้ไขปัญหาผู้บริโภคต่าง ๆ โดย โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค