ทำไมต้องลดไขมันในเลือด
ภาวะไขมันในเลือดสูง หมายถึงภาวะที่มีระดับคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ทำให้ไขมันจับตัวเกาะแน่นตามผนังด้านในหลอดเลือด หากมีปริมาณที่สะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจทำให้หลอดเลือดเกิดการแข็ง ตีบ หรืออุดตัน จนเลือดไม่สามารถไหลเวียนสะดวกได้ และก่อให้เกิดโรคร้ายอื่น ๆ เกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดในที่สุด นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมเราจึงต้องล้างไขมันในเส้นเลือด หรือลดระดับไขมันในเลือดให้น้อยลง
7 วิธีช่วยลดไขมันในเส้นเลือด
สำหรับใครที่กำลังเผชิญกับภาวะไขมันในเลือดสูงอยู่ หรือกังวลว่าตัวเองจะเป็นภาวะไขมันในเลือดสูง และกำลังมองหาวิธีช่วยลด หรือล้างไขมันในเส้นเลือดอยู่ วันนี้เราก็ได้รวบรวมมาให้แล้ว กับ 7 วิธีช่วยลดไขมันในเส้นเลือด พร้อมแล้วตามมาอ่านกันได้เลย
1. ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร
วิธีที่ง่ายที่สุดในการล้างไขมันในเส้นเลือด หรือลดภาวะไขมันในเลือดสูงได้ดีก็คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารใหม่ ซึ่งไม่เพียงแต่จะส่งผลดีต่อระดับไขมันในเส้นเลือดแล้ว ยังดีต่อสุขภาพร่างกายในด้านอื่น ๆ อีกด้วย โดยแนะนำให้ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ดังนี้
- ลดการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของไขมันอิ่มตัวสูง เช่น ไข่แดง นมวัว เนื้อสัตว์ติดมัน เนื้อสัตว์แปรรูป ของทอด ของมัน ของหวาน เพราะอาจเป็นการเพิ่มระดับไขมันเลวในเลือด และส่งผลให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูงได้
- เลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์ (Trans Fat) เช่น ครีมเทียม เนยขาว เนยเทียม และมาการีน เป็นต้น
- ทานอาหารกลุ่มไขมันดี เช่น โอเมก้า 3 จากปลาทะเล วอลนัท อัลมอนด์ ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดไขมันเลว และจะช่วยป้องกันไม่ให้ไขมันเลวเข้าไปสะสมในหลอดเลือดแดง
- เพิ่มปริมาณไฟเบอร์ หรืออาหารที่มีกากใยสูงในมื้ออาหาร เช่น ผักใบเขียว ข้าวโอ๊ต แอปเปิ้ล ลูกแพร์ ธัญพืชขัดสีน้อย เนื่องจากไฟเบอร์สามารถช่วยลดการดูดซึมของคอเลสเตอรอลเข้ากระแสเลือดได้
- ลดการใช้น้ำมันในการประกอบอาหาร หรือปรับเปลี่ยนประเภทน้ำมันประกอบอาหารจากน้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว หรือไขมันจากสัตว์ เช่น มันไก่ มันหมู เป็นน้ำมันพืชประเภทน้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วเหลืองแทน
- ปรับเปลี่ยนวิธีประกอบอาหารจากการทอด หรือใช้น้ำมันผัด เป็นการนึ่ง ต้ม อบ หรือย่างแทน เพื่อลดการใช้น้ำมันที่อาจเป็นสาเหตุหลักของระดับไขมันในเลือดสูง
2. หมั่นออกกำลังกาย
การออกกำลังกายนั้นไม่เพียงแต่จะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง ลดน้ำหนักตัว หรือเผาผลาญพลังงานได้ดีแล้ว ยังสามารถช่วยล้างไขมันในเส้นเลือดไปพร้อม ๆ กับเพิ่มระดับไขมันดีในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย โดยเฉพาะการออกกำลังกายประเภทแอโรบิก และการออกกำลังกายแบบมีแรงต้านทาน เช่น ดัมเบล บาร์เบล ซึ่งมีข้อแนะนำในการออกกำลังกายตามช่วงอายุ ดังนี้
- ช่วงอายุ 18-64 ปี แนะนำออกกำลังกายครั้งละ 30-60 นาที ทุกวัน หรืออย่างน้อย 2-3 วันต่อสัปดาห์
- ช่วงอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรหมั่นออกกำลังกายครั้งละประมาณ 30 นาทีในทุก ๆ วัน หรืออย่างน้อยให้ร่างกายได้ขยับอย่างต่อเนื่องประมาณ 10 นาทีต่อวันก็ยังดี
3. ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มชูกำลัง
การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ไขมันในเลือดสูงเช่นกัน ซึ่งถ้าถามถึงวิธีช่วยล้างไขมันในเส้นเลือดล่ะก็ หนึ่งสิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรก ๆ เลยก็คือการลด ละ เลิกสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง เนื่องจากพฤติกรรมเหล่านี้สามารถเพิ่มระดับไขมันเลวในเลือดให้สูงขึ้นได้
4. ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ลดความเครียด
เมื่อไหร่ที่เราเกิดภาวะเครียด ร่างกายจะไม่ได้เร่งการผลิตเฉพาะฮอร์โมนคอร์ติซอลที่เป็นสาเหตุทำให้ร่างกายแก่เร็วเพียงอย่างเดียว ยังส่งผลให้ร่างกายกระตุ้นการสร้างไขมันเลวเพิ่มมากยิ่งขึ้นอีกด้วย ฉะนั้นถ้าต้องการล้างไขมันในเส้นเลือด หรือลดความเสี่ยงจากภาวะไขมันในเลือดสูง ก็ขอแนะนำให้พยายามทำจิตใจให้สงบ ผ่อนคลาย ไม่เครียดจนเกินไป หรือสามารถปรึกษาจิตแพทย์เพื่อหาทางออกและวิธีบำบัดความเครียดร่วมด้วยได้
5. ควบคุมน้ำหนัก
โรคอ้วน หรือภาวะที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานนั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายเป็นอย่างมาก ทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือแม้แต่ภาวะไขมันในเลือดสูง จึงจำเป็นต้องควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินมาตรฐานโดยเร็วที่สุด ไม่ว่าจะด้วยวิธีการออกกำลังกายก็ดี หรือควบคุมอาหารก็ดี ซึ่งการควบคุมน้ำหนักไม่เพียงแต่จะสามารถล้างไขมันในเส้นเลือดเท่านั้น ยังลดความเสี่ยงโรคร้ายต่าง ๆ ได้ แถมได้หุ่นที่เพรียวสวยแลดูสุขภาพดีมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
6. รับประทานยาลดไขมันในเลือด
ในบางครั้งการคุมอาหาร หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างใดอย่างหนึ่งอาจไม่เพียงพอต่อการลดระดับหรือล้างไขมันในเส้นเลือด ก็จำเป็นต้องทานยาเพื่อลดคอเลสเตอรอล หรืออาหารเสริมลดคอเลสเตอรอลควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้ยาลดไขมันในเลือดส่วนใหญ่นั้นควรอยู่ภายใต้การดูแลและวางแผนการรักษาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เนื่องจากยาลดไขมันในเลือดมีกลไกออกฤทธิ์และผลข้างเคียงที่แตกต่างกันออกไป อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าผลดีได้ หากเลือกรับประทานยาเหล่านั้นด้วยตนเอง
7. อาศัยนวัตกรรมทางการแพทย์
สำหรับใครที่คุมอาหาร ออกกำลังกายก็แล้ว หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตต่าง ๆ ก็แล้ว แต่เมื่อไหร่ที่ไปตรวจค่าไขมันในเลือดก็ยังมีปริมาณที่สูงอยู่นั้น ขอแนะนำว่าควรมองหานวัตกรรมทางการแพทย์อื่น ๆ เพื่อรักษาระดับไขมันในเลือด หรือล้างไขมันในเส้นเลือดร่วมด้วย อย่างเช่นการเข้ารับบริการโปรแกรมดริปวิตามินที่มีส่วนช่วยลดไขมันที่เกาะตามผนังหลอดเลือดให้น้อยลง สามารถลดความเสี่ยงโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สรุปบทความ
ภาวะไขมันในเลือดสูงถือเป็นภาวะที่ควรระวังเป็นอย่างมาก เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและชีวิตได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน จึงจำเป็นอย่างมากที่ควรเข้ารับการตรวจเช็กระดับไขมันในเลือดอยู่ตลอด และวางแผนการล้างไขมันในเส้นเลือด หรือรักษาระดับไขมันเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติมากที่สุด