วันพุธที่ 31 มกราคม 2567 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมคาร์ลตัน กรุงเทพ สุขุมวิท ท่าเรือกรุงเทพ (ท่าเรือกรุงเทพ) ได้เปิดให้บริการมาตั้งแต่ พ.ศ.2490 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะพบว่าระบบโครงสร้างพื้นฐานโรงพักสินค้าและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่มีอยู่ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในพื้นที่เขื่อนฝั่งตะวันตกได้ถูกออกแบบไว้สำหรับการให้บริการบรรทุกขนถ่ายกับสินค้าประเภททั่วไป (Conventional Cargoes) ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยในปัจจุบันที่สินค้าส่วนใหญ่จะถูกบรรจุมาในรูปแบบของตู้สินค้า (Containerization) ในปัจจุบันเนื่องจากที่ดินในพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพมีราคาสูงมาก กอรปกับมีชัยภูมิและทำเลที่ตั้งเชิงกลยุทธ์รายล้อมด้วยสังคมเมือง แต่พื้นที่ดังกล่าวยังไม่ได้มีการใช้ประโยชน์ให้เหมาะสม คุ้มค่าและได้มาตรฐานสำหรับระบบงานให้บริการตู้สินค้า ส่งผลต่อคุณภาพการให้บริการ ต้นทุนผู้ใช้บริการ ประสิทธิภาพการให้บริการและต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ
ภายใต้วิสัยทัศน์ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่ “มุ่งสู่มาตรฐานท่าเรือชั้นนำระดับโลก พร้อมการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในปี 2573” ท่าเรือกรุงเทพซึ่งเป็นท่าเรือหลักของประเทศและเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้านำเข้า-ส่งออกที่สำคัญให้กับกรุงเทพมหานคร และ ปริมณฑลจึงได้มีการพัฒนาบริการและโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือให้มีมาตรฐานระดับโลก (World Class Port) เพื่อสนับสนุนและเป็นกลไกขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยโครงการฯ ดังกล่าวนี้จะพลิกโฉมของท่าเรือกรุงเทพสู่งการเป็นท่าเรือ Smart Port ที่มีประสิทธิภาพ ทันสมัย ประหยัดต้นทุนและลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก โดยจะมีการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมและ Logistics Park โดยเฉพาะถนนทางด่วนสาย S1 ร่วมกับการพัฒนาท่าเทียบเรือ Terminal 3 ในอนาคต ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของโครงการฯ คือเพื่อพัฒนาการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อรองรับกิจกรรมดั้งเดิมและกิจกรรมใหม่ของท่าเรือกรุงเทพ รวมทั้งแสวงหาโอกาสในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับท่าเรือกรุงเทพ และเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ต่อ GDP ของประเทศและผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินงาน
ภายใต้โครงการฯ นี้ จะประกอบด้วยแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ภายในเขตรั้วศุลกากร 138 ไร่ (220,800 ตร.ม) เป็นอาคารทรงสูง (Multilevel Warehouse) เพื่อรองรับปริมาณสินค้า/ตู้สินค้า LCL/CFS ของท่าเรือกรุงเทพที่เพิ่มมากขึ้น เช่น Free Zone ,Cold Chain Warehouse ,E-Commerce Fulfillment Center, Last-Mile Delivery, Value Added Services, Cross-Border E-Commerce เป็นต้น และพัฒนากิจกรรมท่าเรือสมัยใหม่ (New Business Venture) เพื่อรองรับพลวัฒน์การเติบโตและขยายตัวของเมือง โดยในโครงการฯ จะประกอบไปด้วยกิจกรรมการให้บริการต่างๆ เช่น คลังสินค้าทรงสูง ศูนย์เปลี่ยนถ่ายและขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พื้นที่บริหารจัดการรถบรรทุก (Truck Terminal) และอาคาร One Stop Services (OSS) เป็นต้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้บริการของท่าเรือกรุงเทพในอนาคต