ภญ. อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ปี 2566 เป็นอีกหนึ่งปีที่น่าประทับใจของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โดยโรงพยาบาลฯ ได้รักษาผู้ป่วยให้กลับบ้านอย่างปลอดภัยกว่า 1 ล้านคน ซึ่งแบ่งเป็นผู้ป่วยไทยและ expat เป็นจำนวนกว่า 660,000 ครั้ง และ ผู้ป่วยต่างชาติ เป็นจำนวน 351,000 ครั้ง จากกว่า 190 ประเทศทั่วโลก โดย 97% ของผู้ที่มารับการบริบาลทั้งหมดกลับมาหาเรา แสดงถึงความเชื่อมั่นในการรักษา ด้วยมาตรฐาน ความปลอดภัยสูงสุด
อย่างไรก็ดี เราตระหนักดีถึงความท้าทายในปัจจุบันและการเปลี่ยนแปลงในอนาคตของระบบการดูแลรักษาที่กำลังจะมาถึง ทำให้เราไม่สามารถหยุดนิ่ง และพอใจกับความสำเร็จที่ผ่านมาได้ ไม่ว่าจะเป็น ความก้าวหน้าในเทคโนโลยีทางการแพทย์ โมเดลการดูแลสุขภาพ นวัตกรรมทางเทคโนโลยี รวมถึงสุขภาพดิจิทัล การแพทย์ทางไกล และปัญญาประดิษฐ์ ที่เราต้องนำมาปรับเปลี่ยนใช้ในโรงพยาบาล ซึ่งไม่ใช่แค่เพื่อรักษาความเป็นเบอร์หนึ่งเท่านั้น แต่เพื่อใช้โอกาสการเปลี่ยนแปลง และ disruption ที่จะมาถึง สร้างประโยชน์กับผู้ป่วยและพนักงานของเรา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์จึงได้วางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจปี 2567 ให้เป็น Year of Transformation โดยมุ่งมั่นพัฒนา 5 เสาหลัก ได้แก่
1) Clinical Transformation, 2) Safety and Quality Transformation, 3) Operation Process Transformation, 4) Service Excellence Transformation, 5) People Transformation
รศ.นพ. ทวีสิน ตันประยูร ประธานปฏิบัติการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ให้ความสำคัญในการพัฒนาและยกระดับศูนย์รักษาโรคมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2567 โรงพยาบาลฯ มีศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Centers of Excellence) 8 ศูนย์ ได้แก่ สถาบันโรคหัวใจ สถาบันกระดูกสันหลัง ศูนย์มะเร็งฮอไรซัน ศูนย์โรคระบบประสาท ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ ศูนย์จักษุ ศูนย์เต้านม และศูนย์ทางเดินปัสสาวะ ขณะที่ศูนย์การรักษาอื่น ๆ ยังคงให้การบริบาลด้วยคุณภาพมาตรฐานและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานของบำรุงราษฎร์ทุกประการ พร้อมกับการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ ๆ เข้ามาใช้เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาที่ดียิ่งขึ้น โดยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีฝ่ายบริหารทีมแพทย์ที่เข้มแข็ง ทำหน้าที่กำกับดูแลทางการแพทย์ (Clinical Governance) ซึ่งเป็นธรรมภิบาลของแพทย์ เพื่อให้การประกอบวิชาชีพของแพทย์ดำเนินการอย่างถูกต้องเหมาะสม ซึ่งมีกระบวนการตรวจสอบภายในอย่างเป็นระบบตามมาตรฐานสากล
ที่สำคัญ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีแผนระยะยาวในการสร้างแพทย์รุ่นใหม่ให้มีความพร้อมในการก้าวขึ้นมาเป็นแพทย์ผู้ชำนาญการ และแพทย์ผู้บริหารของโรงพยาบาลในรุ่นต่อไป (Young Physician Leaders) เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กร โดยโรงพยาบาลฯ ได้ออกแบบหลักสูตรพัฒนาแพทย์ที่เป็นแบบฉบับของบำรุงราษฎร์เอง ซึ่งนับเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ฝังลึกอยู่ในคนบำรุงราษฎร์เป็นเวลากว่า 4 ทศวรรษและถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น พร้อมทั้งไม่เคยละเลยในการปลูกฝัง และเน้นย้ำด้านจริยธรรม คุณธรรม และหลักธรรมาภิบาล
นพ.รุจาพงศ์ สุขบท รองประธานอาวุโสปฏิบัติการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวเสริมว่า การแพทย์ นับเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้รับบริการ โดยเราจะสร้าง patient engagement การมีส่วนร่วมกับผู้ป่วยโดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางในทุกสิ่งที่เราทำ ควบคู่ไปกับการนำ Innovation มาใช้เสริมประสิทธิภาพในการรักษาและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในองค์กร (sustainable growth) ผ่านการบ่มเพาะวัฒนธรรมองค์กรซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญ และการ empower พยาบาล เภสัชกร และบุคลากรสหสาขาวิชาชีพ ให้ได้ใช้ความรู้ความชำนาญการในแต่ละสาขาอาชีพได้อย่างเต็มศักยภาพ
นพ.นิพัฒน์ กุหลาบขาว รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ในเรื่อง Operation Transformation โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์จะปรับงานด้าน Operation เพื่อเสริมสร้างการบริบาลที่ถูกต้อง ปลอดภัย รวดเร็ว ผ่านระบบ Digital Healthcare เพื่อช่วยให้การให้บริบาลสุขภาพมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยโรงพยาบาลให้ความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยอย่างครบวงจรแบบไร้รอยต่อตลอด patient journey มุ่งเน้นการปรับระบบ Digital Healthcare ให้ทันสมัยอยู่เสมอ และให้มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับข้อมูลจำนวนมาก เช่น เสริมสร้างประสิทธภาพของระบบจัดเก็บเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์แบบ EMR (Electronic Medical Record) เพื่อช่วยให้แพทย์และบุคลากรการแพทย์ สามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยได้ด้วยวิธีการที่รวดเร็วและถูกต้อง มีการอัพเดทข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบการสื่อสารทั้งภายในและระหว่างองค์กร สร้างความยืดหยุ่นในการทำงาน นำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ให้ตอบโจทย์เรื่อง operation efficiency โดยมี KPIs ในเรื่อง Fast, Accurate, Safe, Timely
ในขณะเดียวกัน เมื่อเรามี operation ที่ดีแล้ว เราก็ต้องพัฒนาเรื่องของ service ให้ดียิ่งขึ้น ทำเรื่อง Service Excellence Transformation เพื่อสร้างประสบการณ์การดูแลสุขภาพที่เหนือความคาดหมาย โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีแผนการดำเนินงานอย่างชัดเจนในการให้บริบาลด้วยความเป็นเลิศต่อผู้ป่วย โดยได้มีการปรับปรุงวิถีแห่งบำรุงราษฎร์ (Bumrungrad Way) ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติของบุคลากรในการบริบาลผู้ป่วยที่เป็นแบบฉบับของบำรุงราษฎร์เองให้สอดรับตามยุคสมัย แต่ยังคงแนวปฏิบัติที่ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางในการรักษาพยาบาล นำไปสู่การให้บริบาลด้วยความเท่าเทียมและความเอื้ออาทร นับเป็นเอกลักษณ์ของบำรุงราษฎร์ที่สร้างความแตกต่าง และยังนำเทคโนโลยี AI ต่าง ๆ เข้ามาปรับใช้เพื่อยกระดับการบริบาลให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำให้ผู้รับบริการได้รับประสบการณ์เชิงบวก เกิดความประทับใจและบอกต่อไปยังบุคคลอื่น ๆ นับเป็นการสร้างความเชื่อมั่นที่ดีที่สุดของโรงพยาบาล
ภญ. อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ด้าน People Transformation ทรัพยากรบุคคล คือหัวใจสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของสถาบันทางการแพทย์ บุคลากรของเราคือทรัพย์สินที่มีค่าที่สุด วัฒนธรรมในการถ่ายทอดองค์ความรู้ การสร้างคนรุ่นใหม่ ผ่าน succession planning มี career path และ career development ที่ชัดเจน และพัฒนาผู้นำจากภายใน และการสืบทอดวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งของบำรุงราษฎร์ คือจุดแข็งที่ยากต่อการเลียนแบบ และทำให้เรายืนหนึ่งในฐานะผู้ส่งมอบความเป็นเลิศด้านการดูแลรักษามาตลอดกว่า 43 ปี ในปีนี้ เรายังคงมุ่งเน้นด้านการพัฒนา ฝึกฝนกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ และตระเตรียมการเสริมสร้างผู้นำในอนาคต ที่จะต่อยอด สืบสานการดำเนินงานของโรงพยาบาล อย่างไร้รอยต่อ ไม่ว่าจะเป็น การถ่ายทอดองค์ความรู้ จากผู้นำรุ่นปัจจุบัน เพื่อรักษาจุดแข็ง ในขณะเดียวกันก็สามารถเติมเต็ม และพัฒนาองค์กรให้เหมาะสมกับสภาวะในอนาคตที่จะมาถึง ตลอดจนปลูกฝังวัฒนธรรมและค่านิยมองค์กรคือ iAIC (Inclusion, Agility, Innovation, Caring) ซึ่งเป็น DNA ของคนบำรุงราษฎร์ เน้นเรื่องการปลูกฝัง Agile mindset ของเราที่แข็งแกร่ง หนึ่งในกิจกรรมที่บำรุงราษฎร์ทำมาโดยตลอด คือ การสร้างและพัฒนาให้มีบุคลากรด้านการแพทย์และการพยาบาลที่ทรงคุณค่าให้แก่โรงพยาบาลและแก่ประเทศชาติ รวมถึงการให้ทุนการศึกษาแก่พยาบาล โดยโรงพยาบาลมีสถาบันทางวิชาการที่ส่งเสริมด้านการศึกษาและฝึกอบรมเพื่อให้บุคลากรมีความรู้ที่ทันสมัยอยู่เสมอ ถือได้ว่าปัจจุบันบำรุงราษฎร์เป็น ‘สถาบันวิชาการทางการแพทย์ภาคเอกชน’ หรือ Academic Private Hospital อย่างเต็มรูปแบบ อีกทั้งยังสนับสนุนให้แพทย์และบุคลากรได้มีโอกาสทำงานวิจัย ตีพิมพ์ผลงานในวารสารทางวิชาการทั้งในระดับชาติและนานาชาติ และมีความร่วมมือกับโรงเรียนแพทย์ เพื่อพัฒนางานวิจัยทางการแพทย์และนวัตกรรมการรักษา ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรอย่างต่อเนื่อง
ภญ. อาทิรัตน์ อธิบายต่อว่า Safety and Quality Transformation คุณภาพและความปลอดภัย คือ หัวใจสำคัญอีกประการของบำรุงราษฎร์ ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงที่เกิดการระบาดของโรค บำรุงราษฎร์แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการบริหารจัดการการแพร่ระบาดของโรคได้เป็นอย่างดี เรามีการถอดบทเรียน มี knowledge management นำปัญหามาวิเคราะห์หาสาเหตุเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต และพัฒนาในเรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยง (risk management) ได้อย่างดี ซึ่งสามารถที่จะป้องกันข้อผิดพลาดต่างๆ ที่อาจขึ้นได้ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมเรื่องของ blameless policy ทำให้พนักงานกล้าที่จะพูดคุยในปัญหาเพื่อหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน ที่สำคัญ เราไม่เคยหยุดที่จะพัฒนาเรื่องของเทคโนโลยีเพื่อนำมาปรับใช้ให้เกิดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในองค์กร อย่าง Hospital Information Management System (HIMS) การบริหารจัดการด้านระบบสารสนเทศของโรงพยาบาล ที่ช่วยควบคุม quality ลดข้อผิดพลาด และส่งเสริมมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยในการบริหารจัดการของโรงพยาบาลมีผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการให้องค์กรอิสระภายนอกเข้ามาตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง อาทิ มาตรฐานคุณภาพโรงพยาบาลระดับสากล (JCI) ซึ่งทางโรงพยาบาลได้ผ่านการต่ออายุการรับรอง re-accreditation ครั้งที่ 7 เมื่อปลายเดือน ธ.ค. 2566 , มาตรฐานคุณภาพโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ ‘ขั้นก้าวหน้า’ (A-HA), การรับรองจาก Global Healthcare Accreditation (GHA) ในระดับความเป็นเลิศมาตรฐานสากลในการดูแลกลุ่มผู้ป่วยชาวต่างชาติที่เดินทางเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทย, ความเป็นเลิศในมาตรฐานด้านการปฏิบัติงานด้านพยาธิวิทยาและเวชศาสตร์ชันสูตรของห้องปฏิบัติการทางการแพทย์จากวิทยาลัยพยาธิแพทย์อเมริกัน (CAP) ซึ่งคุณภาพและความปลอดภัย นับเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญของคุณภาพของสถานพยาบาล
สุดท้ายนี้ เราจะไม่สามารถบรรลุวิสัยทัศน์ของการเป็น The Most Trusted Healthcare and Wellness Destination ได้ หากปราศจากศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ ซึ่งเป็นสถาบันเวชศาสตร์ชะลอวัยแบบบูรณาการ เป็นผู้บุกเบิกและวางรากฐานเวชศาสตร์เชิงป้องกันเป็นแห่งแรกในเอเชีย ซึ่งไวทัลไลฟ์มีแนวทางการดูแลสุขภาพเพื่อการมีอายุยืนยาว โดยใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยในด้าน Longevity Medicine ผสมผสานกับเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ ในการวิเคราะห์ อายุชีวภาพ (biological age) หรืออายุที่แท้จริงลึกถึงระดับเซลล์ของร่างกาย เพื่อช่วยวางแผนเฉพาะบุคคลในการลดอายุทางชีวภาพเพื่อชะลอความเสื่อม ป้องกันก่อนเกิดโรคและฟื้นฟูสภาพความเสื่อมให้กลับมามีสุขภาพที่แข็งแรงและมีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงการตรวจรหัสพันธุกรรมโดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการทางเวชศาสตร์จีโนม เพื่อหาความเสี่ยงของ ปัญหาสุขภาพที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล
ด้วยการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมให้แก่ผู้มารับบริการของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์และศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ จะทำให้เกิดการดูแลอย่างต่อเนื่อง (Continuum of care) เสริมศักยภาพการเป็นจุดหมายแห่งการดูแลสุขภาพและสุขภาวะที่น่าเชื่อถือที่สุด และยังเป็นการเสริมจุดแข็งด้านการแพทย์ของไทย สู่เป้าหมายของการเป็น ‘ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ’ หรือ ‘การแพทย์ครบวงจร’ (Medical Hub) เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
โดยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มุ่งมั่นในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่การเป็น 1 ในท็อป 100 โรงพยาบาลที่ดีที่สุดในโลก จากการจัดอันดับของ Newsweek ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า