ศิลปากร มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมเปี่ยมศิลป์ “The Innovation Powered by Arts” ด้วยการ บูรณาการศาสตร์และศิลป์เชิงสร้างสรรค์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ตอบโจทย์การพัฒนาชุมชนอย่างสุนทรีย์ พร้อมเดินหน้าสร้างสังคมอารยะอย่างยั่งยืน ด้วยบทพิสูจน์จากความสำเร็จของศิลปากร
มหาวิทยาลัยศิลปากร เดินหน้าสู่ทศวรรษใหม่แห่งการพัฒนา เฉลิมฉลองวาระครบรอบ 81 ปี แห่งการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งการสร้างสรรค์ด้านศิลปะและการออกแบบ ผ่านแนวคิด “The Innovation Powered by Arts” ด้วยการบูรณาการศาสตร์และศิลป์เชิงสร้างสรรค์ ในฐานะศูนย์กลางนวัตกรรมเปี่ยมศิลป์ที่สำคัญของประเทศไทย พร้อมจัดแสดงนิทรรศการที่บอกเล่าอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของศิลปากร ตลอดจนนำเสนอผลงานวิจัยอันโดดเด่น เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ขับเคลื่อนชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ธนะเศรษฐ์ ง้าวหิรัญพัฒน์ อธิการบดี พร้อมคณะผู้บริหาร ให้เกียรติร่วมงานแถลงข่าว เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพฯ
ศาสตราจารย์ ดร.ธนะเศรษฐ์ ง้าวหิรัญพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า “ปัจจุบันมหาวิทยาลัยศิลปากรมุ่งมั่นก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งการสร้างสรรค์ ผ่านการบูรณาการศาสตร์แห่งศิลปะเข้ากับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์การพัฒนาชุมชนและสังคมในทุกมิติ พร้อมเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตสู่สังคมอารยะอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “The Innovation Powered by Arts”
มหาวิทยาลัยศิลปากรนำศาสตร์แห่งศิลปะมาบูรณาการร่วมกับศาสตร์อื่น ๆ อย่างสร้างสรรค์ ผ่านการเรียนการสอน วิจัยและการบริการเชิงวิชาการเพื่อเพิ่มคุณค่า นำไปสู่การพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติอย่างยั่งยืน ความเป็นศิลปากรที่แท้จริงนั้น เปรียบดังต้นไม้ใหญ่ที่ยืนต้นตระหง่าน แผ่ร่มเงาดอกผล ดูแลผู้คนอย่างต่อเนื่องมากว่า 80 ปี ผ่าน 13 คณะวิชา และ 1 วิทยาลัยนานาชาติ ทั้งในระดับปริญญาตรี โท เอก ใน 3 กลุ่มหลักสูตร คือ กลุ่มศิลปะและการออกแบบ กลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โดยในปี พ.ศ. 2567 มหาวิทยาลัยศิลปากรมุ่งเน้นการพัฒนาและผลิตบัณฑิตที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงาน และสังคมในอนาคต โดยเน้นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงผ่านความร่วมมือกับสถานประกอบการชั้นนำ พัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ ตลอดจนการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมาย SDGs ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรมุ่งขับเคลื่อน
นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังให้ความสำคัญกับการศึกษาตลอดชีวิตผ่านหลักสูตรระยะสั้น หลักสูตรฝึกอบรม และหลักสูตรที่ให้ปริญญาผ่านการสะสมหน่วยกิตในระบบคลังหน่วยกิตของมหาวิทยาลัยศิลปากร บนแพลตฟอร์มทางการศึกษาออนไลน์ SU4Life เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในทุกช่วงวัย สถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร สร้างบุคลากรที่มีความรู้ ทักษะ ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ พร้อมรับมือกับความท้าทายในโลกอนาคต
มหาวิทยาลัยสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนาที่บูรณาการศาสตร์และศิลป์ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง พร้อมยกระดับคุณภาพชุมชนและสังคมในทุกมิติ ทั้งการใช้ชีวิต ความนึกคิด ความรู้สึก จิตวิญญาณ และภูมิปัญญา ด้วยการจัดการนวัตกรรมเปี่ยมศิลป์อย่างสุนทรีย์ ถือเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับวิถีชีวิตทางวัฒนธรรม พร้อมทั้งยกระดับมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน การผสมผสานนี้ไม่เพียงแต่เป็นการเพิ่มพูนศักยภาพในด้านต่าง ๆ แต่ยังเป็นการสร้างโอกาส ให้กับการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม การพัฒนาในลักษณะนี้มุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมศักยภาพของชุมชนท้องถิ่น โดยใช้ความรู้สมัยใหม่ผนวกกับภูมิปัญญาท้องถิ่นในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการ สร้างรายได้ให้ชุมชน การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมพื้นถิ่น ทำให้ชุมชนสามารถใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจในระดับสูงขึ้น โครงการที่จัดขึ้นเพื่อยกระดับมูลค่าเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิโครงการสมุทรสงครามอยู่ดี, โครงการเพ็ชร์มีดี บุรีสร้างสรรค์, โครงการการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าราชบุรี เมืองสร้างสรรค์และน่าอยู่เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน, โครงการพัฒนาทุนศิลปะและวัฒนธรรมย่านเยาวราช
มหาวิทยาลัยได้สนับสนุนนักศึกษาให้เข้าร่วมประกวดออกแบบเครื่องประดับในระดับนานาชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงความสามารถด้านการออกแบบอย่างเต็มที่ ได้เรียนรู้และก้าวข้ามขีดจำกัดของตนเอง รวมถึงได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ช่วยให้นักศึกษาได้เปิดโลกทัศน์ ได้เห็นการออกแบบจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการพัฒนาผลงานในอนาคต อาทิ รางวัล Art Jewelry Commercial Value Awards รางวัล Art Jewelry Professional Group Excellence Awards และรางวัล GIT Popular Design Award 2024 เป็นต้น
การจัดแสดงนิทรรศการ “The Innovation Powered by Arts” เพื่อสะท้อนนวัตกรรม ผลงานสร้างสรรค์ ที่โดดเด่นของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นตัวอย่าง จากการสะสมองค์ความรู้ ผ่านการวิจัย บริการวิชาการ การบูราการศาสต์ซึ่งเป็นจุดเน้นของมหาวิทยาลัยศิลปากร ผ่านศูนย์แห่งความเป็นเลิศต่างๆ เช่น ลายบานประตูทองแดง วิหารธรรมเจดีย์วัดป่าเกษรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด) จากสถาบันศิลปสถาปัตยกรรมไทยเฉลิมพระเกียรติ ภายใต้สำนักศิลปวัฒนธรรมและการสร้างสรรค์ แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ผลิตภัณฑ์อาหารที่ศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร สนับสนุนผู้ประกอบการในการใช้นวัตกรรมด้านต่าง ๆ ออกแบบผลิภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ บริษัท Startup ผ่านการบ่มเพาะระหว่างศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย เน้นการบูรณาการความรู้หลากหลายสาขา เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช่อฟ้า สตูดิโอ (เครื่องประดับจากอัญมณีและโลหะ), ห้างหุ้นจำกัด อภิเษก สตูดิโอ (เครื่องประดับร่วมสมัยจากเศษเครื่องถ้วยเบญจรงค์), บริษัท Nanoonions จำกัด (ผลิตภัณฑ์พลาสติกจากสาหร่ายสลายตัวในน้ำทะเล และพลาสติกชีวภาพ) ซึ่งเป็นนวัตกรรมขับเคลื่อนด้วยศิลปะเพื่อความยั่งยืน อันแสดงถึงวิสัยทัศน์และทิศทางการพัฒนาของมหาวิทยาลัยในอนาคต
อนาคตมหาวิทยาลัยศิลปากรกำลังก้าวสู่ยุคใหม่ของการจัดการศึกษา ที่ไม่เพียงแต่สร้างบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาของตน แต่ยังสามารถบูรณาการความรู้ข้ามศาสตร์เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์การพัฒนาได้อย่างยั่งยืน โดยมียอดรับสมัครนักศึกษาใหม่ ประจำปีการศึกษา 2567 เติบโตขึ้นประมาณ 121% นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังคงมุ่งมั่นในการผลักดันคณะวิชา และหลักสูตรใหม่ที่จะขยายขอบเขตรูปแบบการจัดการศึกษาให้ครอบคลุมในคณะวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ พยาบาลศาสตร์ สหเวชศาสตร์ โดยยังคงบูรณาการผ่านการพัฒนาหลักสูตรภายใต้ความเป็นมหาวิทยาลัยด้านศิลปะ ตามแนวคิด เพื่อสร้างบัณฑิตที่มีทักษะรอบด้านและพร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต นวัตกรรมที่ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนผ่านนวัตกรรมเปียมศิลป์ “The Innovation Powered By Arts for Sustainability” และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศเพื่อเพิ่มการรับรู้และยกระดับมาตรฐานสู่สากล ศาสตราจารย์ ดร.ธนะเศรษฐ์ กล่าวเพิ่มเติม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักสูตร กิจกรรม โครงการวิจัย และความเคลื่อนไหวต่างๆ ของมหาวิทยาลัยศิลปากรได้ที่ https://www.su.ac.th