การประชุมวิชาการว่าด้วยการทดสอบและการวัดระดับทักษะภาษาระดับโลกครั้งที่ 12 จะจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ผนึกกำลังผู้เชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักร ไทย และทั่วโลก ร่วมพิจารณาถึงผลของการเรียนรู้และการวัดระดับทักษะภาษาที่มีต่อการพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจ การยกระดับคุณภาพการศึกษา และการเสริมสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ประเทศไทย 22 พฤศจิกายน 2567 – งานสัมมนากำหนดทิศทางการทดสอบและการวัดระดับทักษะภาษาระดับนานาชาติ ประจำปี 2567 (New Directions East Asia 2024) จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 ถึง 23 พฤศจิกายน 2567 ที่กรุงเทพมหานคร โดยครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 12 ที่ได้รวบรวมผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ คุณครู และผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดระดับทักษะภาษา เพื่อผนึกความร่วมมือ แบ่งปันไอเดีย และศึกษาเกี่ยวกับนวัตกรรมใหม่ล่าสุดในการวัดระดับทักษะภาษา
งานสัมมนานี้จัดขึ้นโดย บริติช เคานซิล องค์กรนานาชาติเพื่อความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม และโอกาสทางการศึกษาจากสหราชอาณาจักร โดยในปีนี้ถูกจัดขึ้นในหัวข้อ “อิทธิพลของการวัดระดับทักษะภาษาที่มีต่อบุคคลและสังคม” เชิญชวนให้พิจารณาถึงผลของการเรียนรู้และการวัดระดับทักษะภาษาที่มีต่อการพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจ การยกระดับคุณภาพการศึกษา และการเสริมสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยตลอดการประชุมทั้ง 3 วันจะเต็มไปด้วยการนำเสนองานวิจัยระดับโลกงานใหม่ ๆ รวมไปถึงเครื่องมือที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง ให้กับผู้กำหนดนโยบาย สถาบันการศึกษา คุณครู ศึกษานิเทศก์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดระดับทักษะภาษา
มร. แดนนี่ ไวท์เฮด ผู้อำนวยการบริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า “เรารู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน New Directions East Asia 2024 การสัมมนานี้ยังคงเป็นเวทีสำคัญในการหารือระดับโลกถึงบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปของการวัดระดับทักษะภาษา สหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในผู้นำระดับโลกด้านการศึกษา การเรียนการสอนภาษา และการวัดระดับทักษะภาษา และเนื่องในโอกาสที่จะมีการฉลองครบรอบ 170 ปีความสัมพันธ์ไทย-สหราชอาณาจักร ในปี 2568 ที่กำลังจะถึงนี้นั้น งานสัมมนา New Directions East Asia จึงเป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือ ที่ได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญทั้งจากไทยและสหราชอาณาจักรมาตอบโจทย์ความท้าทายที่โลกกำลังเผชิญ”
งานสัมมนา New Directions East Asia 2024 ในปีนี้ จะมุ่งเน้นศึกษาผลกระทบของนโยบายการวัดระดับทักษะภาษาทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค สำหรับระดับมหภาคนั้น นโยบายที่กำหนดขึ้นบนพื้นฐานของข้อมูลจะนำไปสู่ความก้าวหน้าทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยความเชื่อมโยงระหว่างหลักสูตร แนวทางการสอน และการวัดระดับทักษะที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันจะนำไปสู่ระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ สำหรับระดับจุลภาคนั้น นโยบายดังกล่าวจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงและคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนแต่ละราย และช่วยเตรียมความพร้อมของพวกเขาให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการด้านการสื่อสารในโลกที่มีความหลากหลายทางภาษาและเชื่อมต่อถึงกัน
ในขณะเดียวกัน การสัมมนาจะครอบคลุมถึงประเด็นความท้าทายจากการใช้นโยบายและการตัดสินใจ โดยศึกษาถึงกรณีที่นโยบายการวัดระดับทักษะภาษานำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ และบทเรียนที่เราสามารถเรียนรู้ โดยการอภิปรายจะเน้นที่ประเด็นสำคัญ 4 ประเด็น ได้แก่
• นโยบายภาษาอังกฤษ ระบบการเรียนรู้ และการวัดระดับทักษะภาษา: นำเสนอผลของนโยบายการวัดระดับภาษาที่ส่งผลต่อการออกแบบหลักสูตร ผลที่มีต่อผู้สอนและผู้เรียน รวมถึงนำเสนอกรณีศึกษาที่เป็นการปฏิรูปที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาทักษะการสื่อสาร
• นโยบายและสังคม: นำเสนอบทบาทของนโยบายภาษาที่ช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ การเชื่อมต่อระดับโลก และความคล่องตัวทางสังคม โดยเฉพาะในด้านโอกาสการจ้างงานและการย้ายถิ่นฐาน
• ภาษาอังกฤษร่วมกับภาษาท้องถิ่นอื่น ๆ: ศึกษาการใช้ภาษาอังกฤษในบริบทที่ใช้ร่วมกับภาษาท้องถิ่นและภาษาประจำชาติของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยสำรวจว่านโยบายต่าง ๆ สนับสนุนความหลากหลายทางภาษาและบทบาทของภาษาอังกฤษในการสื่อสารอย่างไร
• เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (AI): พิจารณาถึงการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในกระบวนการเรียนรู้และการวัดระดับทักษะภาษา โดยเน้นที่ศักยภาพในการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ของแต่ละบุคคล และการประเมินผลที่คุ้มค่าในด้านต้นทุน พร้อมทั้งหารือเกี่ยวกับข้อกังวลเรื่องการเข้าถึงและความเป็นธรรมจากการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้
ด้าน คุณเฮเธอร์ ฟอร์บส์ ผู้อำนวยการฝ่ายการสอบวัดระดับทักษะภาษา ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออก บริติช เคานซิล กล่าวว่า “ในหลาย ๆ ครั้ง เมื่อผนวกนโยบายของรัฐบาลที่เข้มแข็งเกี่ยวกับการเรียนรู้และพัฒนาภาษา เข้ากับการวัดระดับทักษะภาษาที่ได้มาตรฐาน จะสามารถส่งเสริมคุณภาพการเรียนการสอน และการวัดระดับทักษะภาษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ การอภิปรายถึงแนวทางของการวัดระดับทักษะภาษาจึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี ซึ่งนอกจากจะเป็นการยกระดับการศึกษาแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย และหากพิจารณาถึงระดับบุคคล นโยบายทางภาษาจะช่วยเพิ่มโอกาสในชีวิตให้กับเยาวชน และช่วยเตรียมให้พวกเขาพร้อมที่จะสื่อสารและทำงานร่วมกัน บนโลกที่มีการใช้ภาษาที่หลากหลาย”
งานสัมมนาปีนี้ได้รวบรวมวิทยากรและผู้ร่วมอภิปรายที่เป็นผู้นำทางความคิดและผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาในสาขาการวัดระดับทักษะภาษาอังกฤษจากทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลก ประกอบไปด้วย รศ. ดร.จิรดา วุฑฒยากร ผู้อำนวยการสถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์คลอเดีย ฮาร์ช มหาวิทยาลัยเบรเมิน (เยอรมนี) ดร.โทนี แคปสติก รองศาสตราจารย์ด้านภาษาและการย้ายถิ่นฐาน มหาวิทยาลัยเรดดิ้ง (สหราชอาณาจักร) นางสาวแสงแข คงห้วยรอบ ผู้อำนวยการสถาบันภาษาอังกฤษ ศูนย์บริหารจัดการความเป็นเลิศด้านทุนมนุษย์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดร. ฮู เหงียน ผู้อำนวยการโครงการภาษาต่างประเทศแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการและการฝึกอบรม (เวียดนาม) ดร. เจสสิกา หวู่ รองซีอีโอและกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนา ศูนย์ฝึกอบรมและทดสอบภาษา (ไต้หวัน) ศาสตราจารย์ อิอันธี ทิมพลี ศาสตราจารย์ด้านภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (สหราชอาณาจักร) และ ดร.อดัม เอ็ดเมตต์ หัวหน้าฝ่ายนวัตกรรมเทคโนโลยีการศึกษา บริติช เคานซิล (สหราชอาณาจักร) เป็นต้น
สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานสัมมนา New Directions East Asia 2024 ได้ที่
https://www.britishcouncil.or.th/en/programmes/new-directions-east-asia-2024