Art for All มูลนิธิศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ โครงการดีเด่นของชาติสาขาพัฒนาสังคม (ด้านพัฒนาผู้ด้อยโอกาส) ก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 4 จัดงานเสวนา “การยกระดับวิถีชีวิต ผู้ด้อยโอกาส / ผู้พิการ อย่างยั่งยืน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น และข้อมูลเชิงสถานการณ์ที่มูลนิธิฯ ได้ขับเคลื่อนอันเป็นประโยชน์แก่คนพิการ เพื่อมุ่งหวัง ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการไทย ตามแนวทางการพัฒนา อย่างยั่งยืนสหประชาชาติ
ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ประธานมูลนิธิศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ (Art for All) เปิดเผยว่า การดูแล ผู้พิการนั้น สอดคล้องโดยตรงกับการดำเนินงานของมูลนิธิฯ ที่ได้นำเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ สหประชาชาติ Sustainable Development Goal มาเป็นกรอบในการดำเนินการดำเนินงาน ซึ่งกรอบดังกล่าวมี SDGs ที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการ 4 SDGs คือ SDGs 4 การขจัดความเหลื่อมล้ำและทำให้ผู้พิการเข้าถึงการศึกษาและการฝึกอาชีพทุกระดับอย่างเท่าเทียม SDGs 8 การบรรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพและการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้การจ่ายค่าจ้างที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่า เท่าเทียม SDGs 10 การเสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมความครอบคลุมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความพิการ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา สถานะทางเศรษฐกิจ หรืออื่นๆ และ SDGs 11 การทำให้ผู้พิการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่ปลอดภัย ครอบคลุม และเข้าถึงได้ เพราะฉะนั้น การจัดงานเสวนาในครั้งนี้ จึงมีความสอดคล้อง สนับสนุน การดำเนินงานของมูลนิธิฯเป็นอย่างยิ่ง ในการมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตามแนวทางของสหประชาชาติ ภายในปี ค.ศ.2025 เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมกันของคนทุกคนในสังคมและไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ทั้งนี้งานเสวนาดังกล่าว จะจัดขึ้นในวันพุธที่ 8 พ.ค. 67 ณ Sasin School of Management ตั้งแต่เวลา 09.00 – 17.15 น. เพื่อรับฟังแนวคิดและแลกเปลี่ยนมุมมองร่วมกันจากบุคคลชั้นนำจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม อาทิ คุณประสงค์ องค์ปรีชากุล องค์การสหประชาชาติ คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของไทย ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย คุณกฤษณะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล ดร.วิเชียร ชุบไทสง นายกสภาทนายความ โดยได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินการเสวนา มีหัวข้อเสวนาทั้งหมด 6 หัวข้อ ได้แก่
– เสวนา “การยกระดับชีวิต ผู้ด้อยโอกาส / ผู้พิการ อย่างยั่งยืน”
– เสวนา: มุมมองคนใกล้ตัว ครอบครัว และการศึกษา
– เสวนา: มุมมองด้านสาธารณสุข สุขภาพ และสวัสดิการ
– เสวนา: มุมมองด้านนโยบายรัฐ กฏหมาย สิทธิ และโอกาส
– เสวนา: มุมมองด้านการเข้าสู่ตลาดแรงงานยุค GenAI การลงทุน และการท่องเที่ยว
– เสวนา: มุมมองด้านโครงสร้าง; บ้านพัก ที่ทำงาน อาคารสถานที่ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
การจัดงานเสวนาภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ในครั้งนี้ ในนามมูลนิธิฯ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้เข้าร่วมจะเกิดความเข้าใจ และ เกิดประโยชน์ในระดับปัจเจกและระดับสังคมโดยรวม พร้อมจะขับเคลื่อนเพื่อดูแลคนพิการอย่างเท่าเทียม เพื่อที่ในอนาคตผู้พิการใน ประเทศไทยจะได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระ และเต็มศักยภาพ เพื่อเป้าหมายที่สำคัญที่สุดก็คือการที่พวกเราต้อง “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ทั้งนี้ เนื่องจาก สังคมที่ผู้อยู่กันอย่างเสมอภาค และเท่าเทียม คือ สังคมที่มีความผาสุก เช่นนี้เราทุกคนจึงล้วนมีส่วนร่วม และมีสิทธิที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการนำมาซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนให้แก่สังคม เศรษฐกิจ และ สิ่งแวดล้อม ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ กล่าวปิดท้าย