เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๒ นางพรพิมล กาญจนลักษณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศ เป็นประธานเปิดการสัมมนา ASEM Seminar on Enhancing Human Capital for Sustainable Digital Connectivity ซึ่งจัดโดยกระทรวงการต่างประเทศ ณ โรงแรม Pullman Bangkok King Power กรุงเทพฯ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศสมาชิกการประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia Europe Meeting – ASEM) องค์การระหว่างประเทศ ภาครัฐและเอกชน ร่วมเป็นวิทยากร และมีผู้เข้าร่วมการประชุมฯ กว่า ๒๕๐ คน
การจัดการสัมมนาครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่ประเทศไทยในฐานะสมาชิกกรอบการประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting – ASEM) เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริม ความเชื่อมโยงทางดิจิทัลอย่างยั่งยืนร่วมกันระหว่างสองภูมิภาค ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญในกรอบ ASEM โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงถึงการจัดสัมมนานี้ ระหว่างการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ ๑๒ ที่กรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ ๑๘-๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ พร้อมทั้งเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ ของไทย ในฐานะประธานอาเซียนประจำปี ๒๕๖๒ ในการเสริมสร้างความยั่งยืนและความเชื่อมโยงในทุกมิติ ตามที่ไทยได้ประกาศไว้ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๔ ณ กรุงเทพฯ และการประชุมผู้นำ G20 ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๒
ในช่วงพิธีเปิดการสัมมนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ย้ำถึงความสำคัญ ของการเชื่อมโยงระหว่างประชาชน ภาคเอกชน และสถาบันต่าง ๆ โดยคำนึงถึงการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ขององค์การสหประชาชาติ โดยความเชื่อมโยงระหว่างเอเชียและยุโรปมีความสำคัญในด้านความมั่นคง สันติภาพ ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาอย่างทั่วถึง (inclusive development) ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยให้ความสำคัญ เป็นอย่างยิ่ง การสัมมนาครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีสำหรับเอเชียและยุโรปที่จะได้หารือถึงแนวทางที่เอเชียและยุโรป จะมีความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลอย่างยั่งยืน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๔ โดยเฉพาะ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมีความสำคัญเป็นลำดับแรก โดยการเตรียมความพร้อมต่าง ๆ สำหรับประชาชน เพื่อรับมือกับความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลจำเป็นที่ประเทศต่าง ๆ จะต้องให้ความสำคัญกับ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อประชาชน รวมถึงต้องพัฒนาทักษะที่จำเป็นให้กับประชาชนสำหรับอาชีพในอนาคต นอกจากนี้ ยังเสนอให้เอเชียและยุโรปร่วมมือกันในการส่งเสริมความมั่นคงทางไซเบอร์เพื่อเสริมสร้างความเชื่อใจกัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลทางดิจิทัลร่วมกัน
วาระแรกของการสัมมนาเป็นกล่าวถ้อยแถลงของผู้แทนระดับสูง (High-Level Commitment) ในหัวข้อ “Digital Transformation Trends – What should Asia and Europe Change for Sustainable Digital Connectivity?” โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างเอเชียกับยุโรปที่จะส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลอย่างยั่งยืนในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล โดย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมของไทย ได้กล่าวถึงแนวทางการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างเอเชียกับยุโรปเพื่อรับมือกับ ความท้าทายที่มาพร้อมกับยุคสมัยดิจิทัลในด้านต่าง ๆ
นาย Pirkka Tapiola เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวถึงความเชื่อมโยงทางดิจิทัลว่า เป็นส่วนสำคัญในการดำเนินยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงยุโรป-เอเชียในภาพรวม ซึ่งมีเป้าหมายคือการพัฒนา ความเชื่อมโยงที่มีความครอบคลุมและยั่งยืน โดยตั้งอยู่บนรากฐานของกฎและมาตรฐานที่ได้แต่ละประเทศตกลงร่วมกัน เอกอัครราชทูตฯ กล่าวต่อไปว่า สหภาพยุโรปเชื่อมั่นว่าความเชื่อมโยงที่ครอบคลุมและยั่งยืนนี้จะนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศไทยและต่างประเทศ นำประโยชน์มาสู่ประชาชน นอกจากนี้ ยังจะช่วยผลักดันให้ระดับภูมิภาคประสบความสำเร็จในการดำเนินการตามเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย
นาย Gil S. Beltran ปลัดกระทรวงการคลังของฟิลิปปินส์ กล่าวถึงประสบการณ์ของฟิลิปปินส์ ในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการหลั่งไหลของเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การการจัดตั้ง TradeNet Platform เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในการนำเข้า-ส่งออกสินค้าและบริการ การนำเทคโนโลยีมาส่งเสริม การทำงานของภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และการส่งเสริมความเชื่อมโยงทางดิจิทัลเพื่อให้ประชาชน ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงบริการของรัฐได้อย่างเท่าเทียมกัน
ในช่วงการจัดสัมมนาย่อยในหัวข้อแรก “Bridging the Digital Skills Gap – Towards a Digital Literated Society in Asia and Europe” ดำเนินรายการโดยนายชยุตม์ เศรษฐ์บุญสร้าง จากสำนักข่าวรอยเตอร์ ได้จุดประเด็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐและเอกชนจากหลายประเทศเกี่ยวกับแนวทางในการพัฒนาบุคลากรสาขาดิจิทัลให้เพียงพอต่ออุปสงค์ของตลาดโลกในอนาคต ซึ่งแนวโน้มในปัจจุบันภาครัฐจะต้องพึ่งพาภาคเอกชนในลักษณะ public-private partnership มากขึ้น ประเด็นที่ได้รับความสนใจ ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านแอพลิเคชั่น เช่น Gojek และ e-platform ต่าง ๆ ในการพัฒนาและจัดหาทรัพยากรบุคคลให้แก่บริษัทอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุม นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือถึงความท้าทายใหม่ ๆ เช่น การวางแผนรับมือเทคโนโลยี A.I. ที่กำลังจะเข้ามาแทนที่ทุนมนุษย์ในอนาคตด้วย
ในช่วงการจัดสัมมนาย่อยในหัวข้อที่สอง “Accessing the Digital Marketplace – Towards an Open Innovative Digital Global Economy” ดำเนินรายการโดย Mr. Jonathan Tseun Yip Wong จาก United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific (ESCAP) ผู้เข้าร่วมสัมมนาจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA หน่วยงาน Cyberspace Administration ของจีน กระทรวงการคลังของฟิลิปปินส์ และภาคเอกชนจากบริษัท DTAC บริษัท LinkAja และบริษัท Shopee ได้แลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างประเทศสมาชิก ASEM และแนวปฏิบัติที่ดีด้านการกำหนดนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจและตลาดดิจิทัล รวมถึงความท้าทายต่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องการเก็บภาษีดิจิทัล นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมการสัมมนายังได้หารือเกี่ยวกับบทบาทของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล โอกาสและความท้าทายของ FinTech รูปแบบใหม่ ๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบธนาคารในอนาคต และการส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง และผู้ประกอบการรายใหม่ในการใช้ platform ด้าน e-commerce ในการพัฒนาธุรกิจและการตลาด
ในช่วงการจัดสัมมนาย่อยในหัวข้อที่สาม “Towards Sustainable Digital Connectivity and Security in Asia and Europe” ดำเนินรายการโดย ดร. ดามพ์ สุคนธทรัพย์ กรรมการ กรรมการบริหาร และประธานคณะกรรมการกำหนดนโยบายด้านกลยุทธ์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ผู้เข้าร่วมสัมมนาจาก บริษัท Microsoft ในประเทศไทย ผู้อำนวยการสำนัก State Information Systems ของเอสโตเนีย ผู้แทนจาก DG CONNECT ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) และผู้แทนจากสำนักเลขาธิการ OSCE ได้แลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือระดับภูมิภาคและระดับโลกเพื่อการเสริมสร้างขีดความสามารถในด้านความเชื่อมโยงทางดิจิทัล ความมั่นคงทางไซเบอร์ และเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน รวมทั้งการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาความเชื่องโยงทางดิจิทัล และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและคำแนะนำผ่านประสบการณ์ของผู้แทนจากประเทศยุโรปในเรื่องของความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลอย่างยั่งยืน ในด้านของความมั่นคงทางไซเบอร์ ผู้เข้าร่วมการสัมมนาได้หารือเกี่ยวกับแนวทางในการให้ความรู้และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแก่สาธารณชน โดยเฉพาะเยาวชนจากภัยของ hate speech และ fake news
ทั้งนี้ ผลการสัมมนา ASEM Seminar on Enhancing Human Capital for Sustainable Digital Connectivity ในครั้งนี้ ประเทศไทยจะได้นำไปรายงานต่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ ๑๔ ในเดือนธันวาคม ๒๕๖๒ ที่กรุงมาดริด สเปน รวมถึงผลักดันให้เกิดความร่วมมือเพื่อการส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลอย่างยั่งยืนกับประเทศสมาชิก ASEM ภายใต้กรอบการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเชีย-ยุโรป ซึ่งได้กำหนดให้ประเด็นเรื่องความเชื่อมโยงเป็นประเด็นหลักในการหารือร่วมกันต่อไป