เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ แพลทินัม ประตูน้ำ กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย (Association of Thai NCD Alliance) และภาคีเครือข่าย ประกาศเจตนารมณ์ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบาย ตัดวงจรปัญหาโรค NCDs ทำลายชีวิตคนไทย พร้อมจัดพิธีลงนาม MOU องค์กรวิชาชีพ หน่วยงานรัฐ และภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านโรคไม่ติดต่อ ตั้งเป้าสนับสนุนขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ สู่ วาระแห่งชาติ
ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย กล่าวว่า กลุ่มโรคไม่ติดต่อ (Non-communicable diseases; NCDs) เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และ โรคปอดเรื้อรัง เป็นภัยเงียบในใช้ชีวิตประจำวันที่ร้ายแรงกว่าโควิด-19 หลายเท่าตัว เพราะพบผู้เสียชีวิตจากโรคนี้วันละไม่ต่ำกว่า 1,000 คน คิดเป็นมูลค่ามหาศาลที่ระบบบริการสาธารณสุขต้องจ่ายเพื่อดูแลผู้ป่วย เช่น ค่าบุคลากรทางการแพทย์ ยา และเครื่องมืออุปกรณ์
“การควบคุมและป้องกันโรค NCDs คือ ลดปัจจัยเสี่ยงจากการบริโภคที่ไม่จำเป็น ไม่ยุ่งกับอบายมุข ส่งเสริมปัจจัยที่ทำให้สุขภาพดีขึ้นด้วยการมีกิจกรรมทางกาย เช่น เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน วิกฤตโควิด-19 คือโอกาสที่เราควรปรับวิธีดำเนินชีวิต และปรับสิ่งแวดล้อมให้ลดปัจจัยเสี่ยง ซึ่งต้องอาศัยนโยบายยับยั้งปัจจัยเสี่ยงและส่งเสริมปัจจัยคุ้มครอง จึงเสนอฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญแก้ปัญหาโรค NCD อย่างจริงจัง และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคมและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี กล่าว
ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 5 สสส. และรองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เป้าหมายของ สสส. คือ ขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมที่ลดการบริโภคไม่จำเป็น และส่งเสริมให้ประชาชนหันมารักสุขภาพ ลดความเสี่ยงจากโรค NCDs ที่ผ่านมาได้สานพลังและผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายร่วมกับภาคีเครือข่าย ให้เกิดกฎระเบียบ การจัดสรรงบประมาณแก้ปัญหา สู่ วาระแห่งชาติ สร้างความรอบรู้ทางสุขภาพให้ทุกคนหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างจริงจัง ให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายกาย กินอาหารมีประโยชน์ ลด ละ เลิกอบายมุข เพื่อสุขภาวะที่ดี
“ปี 2564 สสส. และ ภาคีเครือข่ายจะติดตามและขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายอย่างน้อย 4 ด้าน คือ 1) การจัดบริการผู้ป่วย ผู้ที่เสี่ยงต่อ NCDs แบบวิถีใหม่ ลดความแออัด ลดการรอคอย และผู้ป่วยมีข้อมูลใช้ติดตามและปรับเปลี่ยนสุขภาพของตนเองได้ 2) ด้านการควบคุมสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น บุหรี่-ยาเส้น, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, อาหารหวาน มัน เค็ม 3) ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ด้วยการเดิน โดยส่งเสริมการใช้รถขนส่งมวลชน พัฒนาสวนสาธารณะและทางเดินเท้าในเมืองและทุกท้องถิ่นให้ปลอดภัย เข้าถึงง่ายกับประชาชนทุกเพศ ทุกวัย และ 4) การส่งเสริมหน่วยงาน/องค์กรให้ดูแลสุขภาพบุคลากรในหน่วยงาน/องค์กร เพื่อให้ปราศจาก NCDs และเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างมีคุณภาพ” ดร.นพ.วิชช์ กล่าว
รศ.นพ.สมบัติ มุ่งทวีพงษา เลขาธิการสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย กล่าวว่า การจัดตั้งสมาคมฯ เป็นการรวมตัวของสมาชิกก่อตั้ง 32 หน่วยงาน ได้ทำงานร่วมกันมาเป็นเวลา 3 ปี ทั้งด้านการให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนผ่านสื่อสาธารณะ และการจัดทำแนวทางการปฏิบัติสำหรับบุคลากรด้านสาธารณสุขเพื่อดูแลและให้คำแนะนำผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงและผู้ป่วยด้วยโรคNCDs เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ และเฟซบุ๊ก “เปลี่ยนนิดพิชิตโรค”
นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส กรรมการสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกวิเคราะห์ว่า ยาสูบเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับที่หนึ่งที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อในไทย และมีคนไทยกว่า 1 ล้านคน ที่มีชีวิตอยู่กับโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ การลดอัตราคนสูบบุหรี่ตั้งแต่ต้นทาง คือ มาตรการทางภาษี และมาตรการการเลิกสูบบุหรี่ จึงขอเสนอให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องพิจารณาแก้ปัญหาภาษียาสูบด้วยความรอบคอบ โดยขอให้ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขและนักวิชาการภาษียาสูบใช้มาตรการทางภาษีสรรพสามิตเข้าร่วมด้วย และขอให้รัฐบาลกำหนดนโยบายเรื่องการเพิ่มยารักษาการเลิกสูบบุหรี่ที่มีประสิทธิผลสูง รวมถึงให้คำแนะนำด้วยข้อความและเสียง และการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ โดยทำให้ระบบบริการสาธารณสุขต้องครอบคลุมคนทุกกลุ่ม
ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ประธานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า เสนอให้รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดการดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจัง เพราะ ปกติน้ำเมาก็เป็นเหตุของสารพัดโรคอยู่แล้ว ยิ่งในสถานการณ์การระบาดของโควิด19 การลดละเลิกน้ำเมา จะช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิดให้กับตนเอง ครอบครัว และสังคม เพราะแอลกอฮอล์ ทำลายภูมิต้านทาน วงเหล้าเป็นแหล่งกระจายเชื้อ และในภาวะเศรษฐกิจยากลำบาก ควรเปลี่ยนค่าน้ำเมา ไปใช้ในสิ่งจำเป็นจะดีกว่า
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็มและนายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คนไทยไม่ควรบริโภคโซเดียม 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน แต่พบว่าคนไทยบริโภคเกินมาตรฐานกว่า 3 เท่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ทั้งที่มีโซเดียมสูงสุดอันดับ 1 ซึ่งการบริโภคโดยเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 49 ชิ้นต่อคน ในขณะที่ทั่วโลกบริโภคเฉลี่ยที่ 13.3 ชิ้นต่อคนต่อปี (ข้อมูลจาก World Instant Noodles Association ในปี พ.ศ. 2560) ส่วนกลุ่มขนมขบเคี้ยว ขนมจำพวกปลาเส้นมีปริมาณโซเดียมสูงสุด รองลงมาเป็นสาหร่ายอบ/ทอดกรอบ และขนมจำพวกข้าวเกรียบและมันฝรั่งอบ/ทอดกรอบ จึงเสนอให้รัฐใช้มาตรการภาษีอาหารที่มีเกลือโซเดียมในปริมาณที่สูงต่อหนึ่งหน่วยบริโภค กระตุ้นภาคอุตสาหกรรมให้ปรับเปลี่ยนสูตรผลิตภัณฑ์อาหารให้มีโซเดียมน้อยลง เพราะเป็นสาเหตุหลักของโรคความดันโลหิตสูงและโรคไตของคนไทย
ผศ.ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล เลขาธิการสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นอกจากมาตรการด้านราคาแล้ว การควบคุมการส่งเสริมการตลาดของอาหารสำหรับเด็ก โดยเฉพาะห้ามการส่งเสริมการตลาดอาหารที่เป็นภัยต่อสุขภาพในเด็ก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่นกลุ่มตลาดอาหารที่ให้พลังงานสูงแต่ให้คุณค่าทางโภชนาการต่ำ อาหารที่หวาน มัน เค็ม จัด