มหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มรัตนโกสินทร์ โดยมี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา , มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม , มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร , มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จัดทำโครงการ “การยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงนวัตกรรมเพื่อสร้างคุณค่า อัตลักษณ์พื้นถิ่นด้วยภูมิปัญญาและนวัตกรรมบนฐานเศรษฐกิจ BCG ย่านกะดีจีน” การทำงานย่านชุมชนกุฎีจีนนี้ เป็นโครงการภายใต้การดำเนินงานของโครงการยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงนวัตกรรมเพื่อสร้างคุณค่าอัตลักษณ์พื้นถิ่นด้วยภูมิปัญญาและนวัตกรรมบนฐานเศรษฐกิจBCG โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นหัวหน้าแผนงานวิจัย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์บริการการท่องเที่ยวเป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) “พลิกโฉมประเทศไทยสู่สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน”
ผศ.ดร.วาสนา ภานุรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า จากการดำเนินงานโครงการนี้ ในฐานะผู้อำนวยการแผนงานวิจัยและการดำเนินงาน ภายใต้โครงการยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงนวัตกรรมเพื่อสร้างคุณค่าอัตลักษณ์พื้นถิ่นด้วยภูมิปัญญาและนวัตกรรมบนฐานเศรษฐกิจBCG มีวัตถุประสงค์ของโครงการฯ เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรมและเทคโนโลยี ยกระดับผลิตภัณฑ์ เพื่อการพัฒนาสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม และองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวและสินค้าเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ภายใต้ภาคีเครือข่ายความร่วมมือของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินงานโครงการวิจัยสู่ผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมทางการท่องเที่ยวโดยชุมชน
ผศ.ดร.อนันตกุล อินทผดุง หัวหน้างานวิจัยกลุ่มรัตนโกสินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ผู้ดูแลโครงการยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวฯ ย่านกะดีจีน กล่าวว่า การท่องเที่ยวโดยชุมชนย่านกุฎีจีน เป็นชุมชนที่ผ่านการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนผ่านโครงการวิจัยของกลุ่มรัตนโกสินทร์เป็นปีที่สาม มีผลิตผลเป็นสินค้าบริการ คือ เส้นทางท่องเที่ยว “เส้นทางการท่องเที่ยวแบบวิถีสยามย้อนรอยประวัติศาสตร์แห่ง เวียง วัง คลัง นา” ได้แก่ วัดกัลป์ยาณ์ ศาลเจ้า โบสถ์ซานตาครู๊ส พิพิธภัณฑ์กะดีจีน ร้านขนมฝรั่งกะดีจีน วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร พิพิธภัณฑ์วัดประยุรวงศาวาสวรวิหารได้รับรางวัลการอนุรักษ์จากยูเนสโก และมีสินค้าที่เป็นที่รู้จัก คือ ขนมฝรั่งกุฎีจีน และในการดำเนินการวิจัย ปีสาม ในการยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงนวัตกรรมเพื่อสร้างคุณค่าอัตลักษณ์พื้นถิ่นด้วยภูมิปัญญาและนวัตกรรมบนฐานเศรษฐกิจ BCG (มหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มรัตนโกสินทร์) จึงได้คัดเลือกสินค้าและบริการดังกล่าว มาดำเนินการ โดยยกระดับขนมฝรั่งกุฎีจีน ที่ยังคงอัตลักษณ์ภูมิปัญญาดั้งเดิม แต่เพิ่มการตอบโจทย์ด้านสุขภาพ
ดร.วีรชัย คำธร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี เจ้าของพื้นที่ที่ดูแลชุมชนย่านกุฎีจีน กล่าวว่า การยกระดับผลิตภัณฑ์ขนมฝรั่งกุฎีจีนนี้ เรามีแนวทางพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ที่มีความเป็นอัตลักษณ์ในชุมชน คำนึงถึง สุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น วัตถุดิบบางส่วนที่นำมาใช้ทางเราได้เชื่อมโยงการใช้วัตถุดิบจากชุมชน เพื่อการกระจายรายได้สู่ชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย โดยขนมฝรั่งกุฎีจีนที่เราพัฒนานี้ เป็นต้นแบบโมเดลผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อต่อยอดทางการตลาดเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ในชุมชน ถ้ามีการตอบรับที่ดีทางการตลาด จะสามารถช่วยส่งเสริมรายได้ชุมชนเพิ่มขึ้นได้ รวมถึงเป็นสินค้าเพื่อการท่องเที่ยวในชุมชน หรือต่อยอดใน Modern Trade ได้ในอนาคต ซึ่งเป็นไปตามรูปแบบของการวิจัยเพื่อส่งผลกระทบแก่ชุมชนในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจแบบบีซีจี (มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี : Good Health and Well-being) เพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องต่อไป
นับว่าความร่วมมือกันของ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มรัตนโกสินทร์ ในโครงการ “การยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงนวัตกรรม เพื่อสร้างคุณค่า อัตลักษณ์ ด้วยภูมิปัญญาและนวัตกรรมบนฐานเศรษฐกิจ BCG ย่านกะดีจีน” จะเป็นกลไกทางเศรษฐกิจสำคัญที่ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของรายได้ การกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น รวมถึงความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในชุมชนอย่างยั่งยืน