กรุงเทพมหานคร เจรจา บีทีเอส นำตั๋วเดือนกลับมาใช้ หลังผลสำรวจสภาองค์กรของผู้บริโภค ยกเลิกตั๋วเดือน ส่งผลผู้บริโภคเพิ่มค่าเดินทาง 70%-100% ขณะที่นักวิชาการ พบต้นทุนราคาค่าโดยสารทำได้ ในราคา 25 บาทต่อเที่ยว ด้านสภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอ นำ ‘ตั๋วเดือน’ กลับมาลดปัญหาค่าครองชีพ
ในงานเสวนา “เลิกตั๋วเดือนจุดเริ่ม แบกค่าโดยสารแพง” ของสภาองค์กรของผู้บริโภค หลังจากที่รถไฟฟ้าบีทีเอสได้ประกาศยกเลิกตั๋วเดือนไปส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารที่ใช้บริการอยู่ราวร้อยละ 30 ของผู้โดยสารทั้งหมด ทำให้ค่าโดยสารบีทีเอสในบางรายสูงเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
นายไวทยา นวเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง ตัวแทน กรุงเทพมหานครผู้ให้สัมปทานกับบีทีเอส กล่าวว่า ได้สอบถามจากบีทีเอส การยกเลิกตั๋วเดือน เกิดจากจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงจากสถานการณ์โควิดจาก 8 แสนคนต่อวัน เหลือ 2-3 แสนคนต่อวัน จึงมีการปรับเปลี่ยนนำโปรโมชั่นใหม่รูปแบบแลกพอยส์มาทดแทน แต่โปรโมชั่นใหม่อัตราค่าโดยสารมีการคิดคำนวนแล้วยังสูงเมื่อเทียบกับตั๋วเดือน ทางกทม.ได้รับไปเจรจากับบีทีเอส เพื่อหาทางช่วยเหลือผู้โดยสารเพิ่มเติม
ด้านนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า เสียงสะท้อนของผู้ใช้บริการที่มีออกมาเป็นจำนวนมากจากการยกเลิกตั๋วเดือนของบีทีเอส แสดงให้เห็นว่า ค่าโดยสารที่กระทบต่อผู้โดยใช้บริการ ไม่ใช่อัตราค่าโดยสารสูงสุดของตั๋วเที่ยว แต่เป็นอัตราเฉลี่ยของตั๋วเดือน ที่กระทบต่อค่าครองชีพโดยตรงของคนกรุงเทพ ซึ่งจากการเปรียบเทียบอัตราค่าโดยสาร ตั๋วเดือนแบบเดิมของประชาชนทั่วไป อยู่ที่ 26-31 บาทต่อเที่ยว แต่โปรโมชั่นใหม่แลกพอยซ์ 3 เดือนแรกอยู่ที่เที่ยวละ 29.34 บาท ส่วนบัตรนักเรียน อยู่ที่ 19-24 บาทต่อเที่ยว แต่โปรโมชั่นใหม่แลกพอยซ์ 3 เดือนแรกอยู่ที่เที่ยวละ 29.34 บาท ซึ่งในกลุ่มนักเรียนกระทบเป็นอย่างมาก ต้องหาวิธีแก้ไขให้กับผู้โดยสารในระยะสั้นจากผลกระทบที่เกิดขึ้น
ส่วนระยะยาว อนาคตสัมปทานรถไฟฟ้าเส้นใหม่ๆ ต้องกำหนดตั๋วเดือนต้องมีค่าโดยสารไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ขั้นต่ำ รวมทั้งต้องไม่คิดค่าโดยสารแบบระยะทาง ควรแค่กำหนดเพดานสูงสุดไว้เท่านั้น รวมทั้งต้องมีอัตราค่าโดยสารพิเศษสำหรับ เด็ก ผู้พิการ ผู้สูงอายุ เป็นต้น ต้องให้คิดค่าแรกเข้าแค่ครั้งเดียวในทุกระบบรถไฟฟ้า และสุดท้ายส่วนเกินจากรายได้จากระบบรถไฟฟ้าต้องนำมาลดค่าโดยสารให้กับผู้ใช้บริการ
ขณะที่ รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้ลดลง ภาครัฐต้องมองปัญหาภาพใหญ่เป็นองค์รวมและร่วมกันแก้ทั้งระบบ เพราะที่ผ่านมาขาดการวางแผน ไม่มีการกำกับเพดานสูงสุดของระบบ ทำให้มี ทั้งค่าโดยสารแพงเพราะคิดค่าแรกเข้าที่ซ้ำซ้อน รวมถึงการยกสัมปทานให้เอกชนโยไม่มีการกำหนดอำนาจต่อรองโดยเฉพาะค่าโดยสาร ทำให้ค่าบริการรถไฟฟ้าในประเทศไทยสูงถึง 28% ของรายได้ขั้นต่ำ คนจึงเลือกหันไปใช้รถยนต์ส่วนตัวแทนรถไฟฟ้า
ทั้งที่จริงๆ แล้วระบบรถไฟฟ้ายังมีศักยภาพอื่นๆ ที่ทำให้เกิดรายได้เข้ามา ทั้งการให้เช่าพื้นที่ในสถานีรถไฟฟ้า ค่าเชื่อมต่ออาคารกับเอกชน ค่าโฆษณา การหารายได้รายได้เหล่านี้ช่วยมาสนับสนุนการให้บริการในระบบรถไฟฟ้าได้ จึงเสนอขอให้รัฐบาล 1 ใช้นโยบาย “บริการรถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชนที่รัฐจะต้องจัดให้มีบริการในกรุงเทพมหานครรวมถึงปริมณฑล” 2 เร่งดำเนินการให้มี การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม 3. กำกับดูแลค่าแรกเข้าในการใช้บริการรถไฟฟ้า 4. สร้างรายได้เพื่อสนับสนุนค่าโดยสาร และ5. ตั้งคณะทำงาน เพื่อหาทางออก ที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่อัตราค่าโดยสารสายสีเขียวในอนาคตหลังหมดสัมปทาน มีการประเมินราคาไว้ที่ 25 บาทต่อเที่ยวนั้น นักวิชาการมองว่าเป็นไปได้ เพราะไม่มีต้นทุนของโครงสร้างแล้ว เหลือเพียงต้นทุนของการให้บริการเท่านั้น ซึ่งจากข้อมูลของบีทีเอสในแต่ละปีต้นทุนในส่วนนี้ สูงสุดอยู่แค่ 16 บาทต่อเที่ยวเท่านั้น
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาพองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาองค์กรผู้บริโภค เห็นว่า ค่าโดยสารในราคา 25 .00 บาทสามารถทำได้เพราะหากคำนวณจะไม่แตกต่างจากราคาตั๋วเดือนของบีทีเอส และความจริงแล้วตั๋วเดือนควรถูกลงกว่านี้ แต่จะต้องไม่ต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสเขียวในปี 2572 เพราะว่าหากต่อสัมปทานเราจะหมดอำนาจต่อรองทันที จึงอยากเห็น กทม.เลิกเสนอเก็บค่าโดยสารในราคา 65 บาท และสนับสนุนข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค โดยหางบประมาณมาใช้หนี้ และไม่ต่อสัมปทานและมาดูกันใหม่ว่าจะมีเงื่อนไขใหม่ในเรื่องราคาค่าโดยสารในการต่อสัมปทานใหม่อย่างไร
นอกจากนี้ยังรวมถึง เสนอให้การประมูลรถไฟฟ้าทุกสาย ควรกำหนดเงื่อนไข ราคาค่าโดยสารที่เป็นประโยชน์ประชาชนมากที่สุด
อย่างไรก็ตามในการแก้ปัญหาค่าครองชีพในระยะสั้น นาวสาวสารี เสนอให้ บีทีเอสนำตั๋วเดือนกลับมาใช้อีกครั้ง
ทั้งนี้สภาองค์กรของผู้บริโภคได้จัดทำโพลสำรวจ ผลกระทบจาก ‘การยกเลิกตั๋วเดือน BTS’ระหว่างวันที่ 11-26 ตุลาคม 2564มีผู้บริโภคตอบแบบสำรวจ 2,563 คน ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่ ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกตั๋วเดือน มีภาระค่าเดินทางเพิ่มขึ้นถึง 70% – 100% จากเดิมที่ใช้ตั๋วเดือนจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 1,000 กว่าบาท แต่หลังจากยกเลิกนั้นจ่ายเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 2,000 บาท