มารีญา พูลเลิศลาภ ทูตองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย (World Animal Protection – Thailand) องค์กรพัฒนาเอกชนระดับโลก ร่วมนำทีมศิลปินและนักปฏิรูปคนดัง รังสรรค์ผลงานศิลปะ 4 ศาสตร์ อย่างยิ่งใหญ่มุ่งเน้นการยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ จัดงาน “เอ้ก-อี-เอ้ก อ๊ากกก” เทศกาลศิลปะเพื่อไก่ และคน เพื่อให้สังคมไทยได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการเลี้ยงสัตว์อย่างมีสวัสดิภาพในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะไก่ ซึ่งมีการบริโภคเป็นจำนวนมหาศาล รวมถึงผลกระทบจากการบริโภคอาหารที่ไม่ปลอดภัย ตลอดจนทางออกที่ทุกคนสามารถช่วยกันได้ เพื่อความยั่งยืนของระบบอาหารที่เกื้อกูลกันของคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม โดยได้มีพิธีเปิดงานอย่างยิ่งใหญ่เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา ณ ลานกิจกรรมด้านหน้า หอศิลปกรุงเทพฯ และผลงานบางส่วนจะนำไปจัดแสดงต่อภายในหอศิลปกรุงเทพฯ จนถึงวันที่ 5 มีนาคม ศกนี้
การกู่ร้องในครั้งนี้ ได้รับพลังบริสุทธิ์จากกลุ่มศิลปิน 4 สาขา พร้อมใจสร้างผลงานมาจัดแสดงกลางใจเมืองกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก ได้แก่ นักรบ มูลมานัส ศิลปินนักปฏิรูป รังสรรค์ผลงาน The last suffer ร่วมกับมารีญา พูลเลิศลาภ เป็นครั้งแรก ครูเซียง หมอลำหุ่น ศิลปินพื้นบ้าน คณะเด็กเทวดา รังสรรค์งานศิลป์ “ชีวิต A4” สะท้อนมุมคิดผ่าน Installation Art นลธวัช มะชัย จากกลุ่มลานยิ้มการละคร ทุ่มพลังให้กับการขยี้และตีแผ่อุตสาหกรรมการผลิตเนื้อไก่ ในพล็อต Kult Of Chicken และไฮไลท์ “ลิเกไทย” ที่ตรึงใจผู้ชมกับพล็อตเรื่องใหม่ “เจ้าชายลอกับไก่วิปลาส” โดยศิลปิน ศิลปาธรปี 2547 อ.ตั้ว-ประดิษฐ ประสาททอง และคณะ
มารีญา พูลเลิศลาภ ทูตองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวถึงการทำงานร่วมกับ นักรบ มูลมานัส ศิลปินนักปฏิรูป ในครั้งนี้ว่า “เรารู้สึกว่านำเสนอในรูปแบบศิลปะการจัดวาง(installation art)
ที่สามารถสื่อสารกับคนได้ง่าย และสามารถเข้ามาถ่ายรูปเพื่อให้เกิดการสื่อสารที่กว้างขึ้น มากกว่าแค่งานที่ถูกจัดวางและแสดงภายในงานแล้วจบ ผลงานนี้ต้องสามารถแชร์แบ่งปันได้ จึงเห็นได้ว่างานของเรากำลังสื่อสารถึง สวัสดิภาพของคน ต่อโลก แล้วก็สวัสดิภาพของไก่ จึงใช้คอนเซ็ปต์ของผลงานว่า The Last Supper (อาหารค่ำมื้อสุดท้าย จิตรกรรมฝาผนังโดย เลโอนาร์โด ดาวินชี) ไปเลย ในแบบอลังการ long table vibe เพราะมันเป็นเหมือนภาพที่คนน่าจะรู้อยู่แล้ว แล้วเรามาปรับให้เป็น The Last Suffer เพราะว่าเราอยากรู้ ให้คนเข้าใจถึงความทุกข์ทรมานของไก่ที่ยังไม่ได้รับสวัสดิภาพที่ดีพอ อยากให้อันนี้เป็น suffer สุดท้ายที่เขาจะสร้างความทุกข์ทรมานให้กับไก่”
ในขณะที่ นักรบ มูลมานัส ศิลปิน ผู้ร่วมรังสรรค์ผลงานเผยถึงการทำงานร่วมกับ มารีญา ครั้งแรกว่า
“รู้สึกมีความท้าทายในการทำงาน เพราะแต่ละคนมีข้อมูลและแนวคิดที่อาจจะไม่เหมือนกัน ปกติ
ผมทำงานอาจจะเป็นประเด็นในอดีต แต่สำหรับงานชิ้นนี้เป็นประเด็นที่อยู่ในโลกร่วมสมัย แล้วก็เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งตอนแรกไม่ได้มีข้อมูล แล้วก็ไม่ได้มีความตระหนักรู้เรื่องสวัสดิภาพของไก่มากนัก แต่พอได้มาทำงานกับมารีญาและองค์กรพิทักษ์สัตว์โลก แห่งประเทศไทย ทำให้เราตระหนักถึงประเด็นต่างๆ รู้สึกว่ามันก็เป็นส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคม เราก็มานึกถึงชีวิตประจำวัน นึกถึงเรื่องของการตระหนักรู้ ทบทวนหาความรู้สึก ว่ามันเกิดอย่างนี้ขึ้นแล้วเหรอเนี่ย ไก่อายุครรภ์ของเขาถูกเร่งขนาดนี้เลย หรือว่า 1 วินาทีมีไก่ตายไปกี่ตัวโดยที่ชีวิตเขาเป็นยังไง มันทำให้เราตั้งคำถามกับด้านต่างๆ ได้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเหล่านี้ หรือว่าเรื่องที่มันเชื่อมโยงเกี่ยวกับ สังคม ผลกระทบด้านสาธารณสุข ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และกับผู้คนด้วย”
ด้าน ครูเซียง หมอลำหุ่น คณะเด็กเทวดา เผยถึงผลงานสุดสร้างสรรค์ “ชีวิต A4” ที่ตั้งตระหง่านสูง 3 เมตรว่า “ไก่ที่ชาวบ้านเลี้ยงตามต่างจังหวัดมีอิสระเสรี อยู่ตรงพุ่มไม้ อยู่กับธรรมชาติ คุ้ยเขี่ยดิน แต่สำหรับไก่ที่เลี้ยงในฟาร์มอุตสาหกรรม มันถูกเลี้ยงอย่างผิดธรรมชาติมาก เราเลยนึกถึงวัสดุที่มาจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นไม้ไผ่ หญ้าคา ฟาง นำมาทำเป็นชิ้นงาน และสื่อว่าไก่ที่อยู่ในฟาร์มถูกเลี้ยงอย่างน่าสงสาร มีขาแต่ไม่ได้ใช้ อยู่บนพื้นที่แคบๆ เท่ากระดาษเอ 4 ซึ่งมันควรได้เดินมากกว่านี้ ไก่ตัวนี้ก็เลยใหญ่แต่มีขาที่เล็ก ด้วยการถูกจำกัดพื้นที่ มันเป็นสิ่งมีชีวิตแต่พิการ เราเข้าใจว่าไก่มันจะถูกเป็นอาหาร แต่เราอยากให้มันมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ อยากสื่อสารว่า อาหารที่มันอร่อย ไก่ย่าง หรือไก่ทอด มันมีชีวิตที่น่าสงสารมาก”
อ.ตั้ว-ประดิษฐ ประสาททอง ลิเกไทยเรื่องใหม่ “เจ้าชายลอกับไก่วิปลาส” เปิดเผยว่า เมื่ออ่านข้อมูลแล้วรู้สึกเป็นเรื่องที่ซีเรียสมาก แต่ลิเกเป็นเรื่องสวยงาม ก่อนจะมาสรุปว่าจะทำลิเกเรื่อง เจ้าชายลอกับไก่วิปลาส โดยล้อมาจากเรื่องพระลอตามไก่ “ลิเกเรื่องนี้เราไม่ได้บอกอะไรมาก แค่แฉว่าไก่ไม่ธรรมดา ไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด เพราะมีคนอยู่เบื้องหลัง สำหรับความคาดหวัง เราต้องการให้ความบันเทิงมาเปิดความคิดคน ไก่ที่เห็นสวยงาม แต่ความจริงมีเบื้องลึกเบื้องหลังอยู่ เปรียบเสมือนเวลาเรามองอะไรในโลกปัจจุบันต้องมองหลายๆ ด้าน และมาชั่งตวงวัดดูว่าเป็นอย่างไร จะจัดการอย่างไร เช่นเดียวกันในเรื่องก็ไม่ได้ตัดสิน หรือมีบทสรุป เพียงคลี่คลายปม ผีที่เข้าสิงในตัวไก่จะหลุดออกมาสารภาพว่า ไก่ไม่ได้วิปลาสแต่ผีมาทำให้วิปลาส เหมือนคีย์เวิร์ดในเรื่องว่า ไก่เป็นสัตว์มีชีวิตแต่ไม่มีจิตใจ คิดว่าจะทำอะไรก็ได้เหรอ”
ปิดท้ายกับ กอล์ฟ-นลธวัช มะชัย กลุ่มลานยิ้มการละคร Lanyim Theatre กล่าวว่า “โจทย์ค่อนข้างท้าทาย เพราะปกติเวลาเราจะอธิบายผ่านงานบอดี้มูฟเม้นต์ มันจะมาจากความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ แต่งานชิ้นนี้เราต้องการให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ จากตอนแรกเราตั้งคำถามว่าสวัสดิภาพไก่คืออะไร แต่เมื่อทำไปแล้วเรากลับเกิดคำถามว่าสวัสดิภาพของคนที่กินไก่อยู่ตรงไหน เราค้นพบว่า สวัสดิภาพของไก่กับคนมันเชื่อมโยงกัน สัมพันธ์กันอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น มนุษย์ในฐานะผู้ผลิตไก่และเป็น ผู้บริโภคไก่ หากไม่โฟกัสที่สวัสดิภาพไก่ให้ลองโฟกัสที่สวัสดิภาพตนเองก็ได้ จะทำให้เห็นว่าการให้ความสำคัญสวัสดิภาพไก่นั้นไปไกลกว่าสวัสดิภาพของมนุษย์ ท้ายที่สุดแม้คุณจะไม่บริโภคไก่สวัสดิภาพของไก่ในฐานะสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ก็ยังต้องให้ความสำคัญกับมันอย่างมหาศาลเหมือนกัน”
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในงาน ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมรังสรรค์งานศิลป์ และแสดงเจตนารมณ์บนผืนผ้าที่ถูกตัดมาหลากสีสัน โดยให้ทุกคนร่วมติดสิ่งที่เขียน บน Installation Art ไก่ยักษ์เพื่อร่วมกันส่งเสียง คืนคุณภาพชีวิตไก่ คืนจิตวิญญาณให้ไก่ คืนคุณภาพชีวิตคน
แม้งานศิลปะภาคการแสดงจะสิ้นสุดท่ามกลางความประทับใจไปแล้วเมื่อคืนก่อน งาน“เอ้ก-อี-เอ้ก อ๊ากกก เทศกาลศิลปะ เพื่อไก่และคน” ยังได้นำผลงาน The Last Suffer และ ชีวิต A4 รวมถึงนิทรรศการภาพวาดจากเยาวชน จำนวน 20 ภาพในหัวข้อ “เชื้อดื้อยาจากฟาร์มอุตสาหกรรม” เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงอันตรายต่อชีวิตที่เรามองไม่เห็น จัดแสดงต่อไปจนถึงวันที่ 5 มี.ค. 2566 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ chickenartfestival.org และ Facebook: World Animal Protection Thailand องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก