เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างกรมอนามัย และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ณ ห้องประชุมกำธร สุวรรณกิจ อาคาร 1 ชั้น 1 กรมอนามัย ว่า กรมอนามัยมุ่งเน้นพัฒนาระบบส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชนทุกกลุ่มวัย สู่การพัฒนาคุณภาพระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อมมุ่งสู่ชุมชนน่าอยู่ เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในแต่ละกลุ่มวัย และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
จากข้อมูลรายงานสาเหตุการป่วย ปี 2563 ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ปัญหาสุขภาพของประชาชนส่วนใหญ่เกิดจากการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อ (NCDs) 3 อันดับแรก ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และเนื้อเยื่อผิดปกติ ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพ คือการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่พึงประสงค์ ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพของประชาชนในแต่ละกลุ่มวัย ตั้งแต่ หญิงตั้งครรภ์ เด็กปฐมวัย วัยทำงาน และผู้สูงอายุ ในขณะที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยมีผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป จำนวน 10.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16.5 เพิ่มขึ้นปีละประมาณกว่า 500,000 คน
และคาดการณ์ว่าภายในปี 2564 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีปัญหา จากสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ปัญหามลพิษทางอากาศ ปัญหาการปนเปื้อนของเชื้อโรคใน อาหารและน้ำ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นต้น กรมอนามัย และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จึงได้จัดทำบันทึกความร่วมมือเพื่อแสดงเจตจำนงที่จะร่วมมือสนับสนุนในการพัฒนาระบบส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการส่งเสริมสุขภาพ และอนามัยสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน และพัฒนาคุณภาพระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อมมุ่งสู่ชุมชนน่าอยู่ เมืองน่าอยู่ อย่างยั่งยืน
“ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือแนวทางการดำเนินงานประกอบด้วย 1) แลกเปลี่ยนข้อมูลและการบันทึกข้อมูล ระหว่างหน่วยงานเพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบาย และขับเคลื่อนการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม 2) ส่งเสริมสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติท้องถิ่นและบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 3) ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาระบบส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4) พัฒนาศักยภาพบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความเชี่ยวชาญด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมตามอำนาจหน้าที่ เพื่อคุ้มครองสิทธิและดูแลประชาชนทุกกลุ่มวัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และ 5) การสื่อสารต่อสาธารณะเพื่อสร้างความรอบรู้ด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเฝ้าระวังตอบโต้ความเสี่ยงสุขภาพ และเตรียมพร้อมรับมือตามบริบทปัญหาพื้นที่ ทั้งในสถานการณ์ปกติ การรองรับภาวะฉุกเฉินและภัยพิบัติ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว