วันนี้ (23 พฤศจิกายน 2565) ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผย ในการเป็นประธานการประชุมมอบนโยบายและประกาศใช้มาตรฐานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับมาตรฐานสากล (Global Standards for Health Promoting School : GSHPS) ณ โรงแรม ทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ว่า การพัฒนาศักยภาพเด็กวัยเรียนวัยรุ่นเป็นการวางรากฐานโครงสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด เป็นการเตรียมคนให้พร้อม มีความรู้เท่าทันและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง ด้วยนโยบายการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 ควบคู่ไปพร้อมกับการศึกษา เน้นให้เด็กวัยเรียนวัยรุ่นมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ มีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ และสามารถดูแลสุขภาพด้วยตนเอง ป้องกันและลดโรคที่สามารถป้องกันได้
กระทรวงสาธารณสุข ร่วมด้วย 6 ภาคีเครือข่าย รับมอบและใช้มาตรฐานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับมาตรฐานสากล พัฒนาให้โรงเรียนเป็นองค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพ ภายใต้ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก (WHO) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กระทรวงศึกษาธิการ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ด้วยมาตรฐาน 10 องค์ประกอบ ได้แก่
1) นโยบายและทรัพยากร
2) การขับเคลื่อนโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพในศตวรรษที่ 21
3) การมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียนชุมชนและภาคประชาสังคม
4) โรงเรียนคือองค์กรแห่งความสุข
5) สิ่งแวดล้อมปลอดภัย โรงเรียนปลอดโรค
6) อนามัยโรงเรียนสู่นักเรียนสุขภาพดี
7) กระบวนการเรียนรู้ สู่เด็กไทยรอบรู้ด้านสุขภาพ
8) โภชนาการดี อาหารปลอดภัย เด็กไทยสุขภาพดี
9) กิจกรรมทางกายเพียงพอและนอนหลับดี และ
10) บุคคลต้นแบบด้านสุขภาพในโรงเรียน
และ 6 ตัวชี้วัดผลลัพธ์สุขภาพนักเรียน ได้แก่
1) ภาวะโภชนาการ
2) สุขภาพช่องปากและฟัน
3) สมรรถภาพทางกายที่สัมพันธ์กับสุขภาพ
4) นักเรียนที่มีปัญหาด้านพฤติกรรม อารมณ์ สังคมได้รับการดูแลช่วยเหลือจนดีขึ้น
5) นักเรียนที่เจ็บป่วย บาดเจ็บหรือได้รับอุบัติเหตุจากสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนที่ทำให้ต้องพักรักษาตัว
6) นักเรียนมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพที่ผ่านมาตลอด 20 ปี มีโรงเรียนให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการกว่าร้อยละ 90 สำหรับการยกระดับมาตรฐานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับมาตรฐานสากลครั้งนี้ เป็นการเสริมสร้างศักยภาพคนให้ครอบคลุมทุกมิติ โดยสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของทุกคนทั้งโรงเรียน ชุมชน ให้สามารถนำความรู้และทักษะด้านสุขภาพ มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ปลูกฝังทัศนคติ ฝึกทักษะและพฤติกรรมสุขภาพ สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ ส่งผลให้ครู และบุคลากรด้านการศึกษามีสุขภาพที่ดีเป็นต้นแบบด้านสุขภาพ สมาชิกในชุมชนมีสุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดี อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สะอาดและปลอดภัย ทำให้บรรลุเป้าหมายของการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ ที่ดีและอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข