เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงาน Healthy Organization Day 2025 และพิธีมอบรางวัล Healthy โดยมี นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้าง เสริมุขภาพ เป็นประธานและมอบรางวัล เพื่อเชิดชูองค์กรต้นแบบที่ใส่ใจสุขภาพพนักงานควบคู่การรักษาสิ่งแวดล้อม ณ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าววว่า สสส. มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในสถานประกอบการ เนื่องจากหากไม่ดูแลเรื่องอาหารและการออกกำลังกาย จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งและโรคหัวใจหลอดเลือด ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญของคนไทย โดยเน้นไปที่ประชากรวัยทำงานของไทยที่ปัจจุบันมีราว 30 ล้านคน และคนเหล่านี้ใช้เวลาอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมงในสถานประกอบการ
“เราต้องการผลักดันให้สถานประกอบการเป็นพื้นที่สร้างเสริมสุขภาพ ทั้งด้านการส่งเสริมการเคลื่อนไหวร่างกายและพฤติกรรมการบริโภคอาหาร โดยเฉพาะการลดการบริโภคเครื่องดื่มรสหวาน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่นำไปสู่โรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว และอธิบายต่อไปว่า การขับเคลื่อนนโยบายองค์กรสุขภาพดี ไม่ได้หยุดเพียงแค่การให้ความรู้ แต่มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ตั้งแต่การปรับนโยบายองค์กร การจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ ไปจนถึงการพัฒนาเมนูอาหารว่างและอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสม โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม อย่างการใช้วัตถุดิบอินทรีย์และลดขยะจากกระบวนการผลิตอีกด้วย
“ความสำเร็จของการสร้างองค์กรสุขภาพดีต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งผู้บริหาร ฝ่ายทรัพยากรบุคคล และที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกคน” ดร.นพ.ไพโรจน์กล่าว พร้อมเน้นย้ำว่า การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างองค์กรจะช่วยขยายผลความสำเร็จให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดย สสส. วางแผนขยายผลการดำเนินงานผ่านการอบรม การศึกษาดูงานในองค์กรต้นแบบ และการสื่อสารความสำเร็จที่เกิดขึ้นจริง มุ่งหวังให้แนวคิดองค์กรสุขภาพดีแพร่หลายในวงกว้าง เพื่อสร้างรากฐานสุขภาพที่ดีให้กับประชากรวัยทำงาน และนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีแม้ยามเกษียณ
รศ.นพ.เพชร รอดอารีย์ นายกสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย และรองประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง กล่าวว่า การพัฒนาองค์กรสุขภาพดีได้ก้าวไปอีกขั้น จากการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ สู่การเป็น “องค์กรรักษ์สุขภาพ รักษ์โลก” โดยยกตัวอย่างความสำเร็จจากโครงการ ‘ทอดไม่ทิ้ง’ ของบริษัท บางจาก ที่รับซื้อน้ำมันใช้แล้วมาผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน สอดรับกับข้อบังคับที่กำหนดให้สายการบินต้องใช้น้ำมันรีไซเคิลอย่างน้อย 2%
ก้าวต่อไปในปี 2568 เครือข่ายคนไทยไร้พุง วางแผนขับเคลื่อนแนวคิดองค์กรสุขภาพดี ผ่าน 4 แนวทางสำคัญ ได้แก่ ๑) ขยายการจัดอบรม “Healthy Organization” เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มี 14๓ องค์กรเข้าร่วม เพื่อสร้างเครือข่ายองค์กรสุขภาพดีให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ๒) เปิดตัวโครงการ “ออมสุขภาพ” เพื่อสร้างความรู้และแรงจูงใจในการดูแลสุขภาพสำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจ ๓) พัฒนาศักยภาพบุคลากรในธุรกิจโรงแรม โดยร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. ทั้งการอบรมเชฟให้สร้างสรรค์เมนูอาหารว่างเพื่อสุขภาพ และเพิ่มทักษะผู้ดูแลฟิตเนสเซ็นเตอร์หรือศูนย์สุขภาพ ให้สามารถนำกิจกรรมออกกำลังกายไปปรับใช้ระหว่างการประชุมได้อย่างเหมาะสม และ ๔) ร่วมมือกับ สสปน. ยกระดับมาตรฐานการจัดประชุมเพื่อสุขภาพสู่สากล โดยจัดทำแพ็กเกจการประชุมที่ใส่ใจสุขภาพเป็นภาษาอังกฤษ รองรับการประชุมนานาชาติในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นจุดขายใหม่ในการดึงดูดการจัดประชุมระดับโลกเข้ามาจัดในประเทศไทย
ภายในงาน นอกจากพิธีมอบรางวัลแล้ว ยังมีการนำเสนอผลงานโครงการขององค์กรที่ได้รับการพิจารณารางวัลพิเศษ Top Performance ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, สำนักคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และรางวัล Best Design Thinking Creator ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ผลงานหนึ่งที่น่าสนใจคือ แอพพลิเคชั่นมีตาพยากรณ์โรค ของคณะแพทยศาสตร์ ม.นเรศวร ที่ผสานศาสตร์การแพทย์เข้ากับการพยากรณ์แบบโหราศาสตร์ โดยวิเคราะห์ภาวะเมตาบอลิก ซินโดรม จากปัจจัยสำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ เส้นรอบพุง ระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต ระดับไตรกลีเซอไรด์ และระดับไขมันดี พร้อมให้คำแนะนำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เข้าใจง่าย นับเป็นเครื่องมือที่ช่วยประชาชนดูแลสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพและดึงดูดให้คนหันมาสนใจ
อีกหน่วยงานที่โดดเด่น คือ สำนักคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โดดเด่นด้านการส่งเสริมสุขภาพองค์กรจนได้รับรางวัลพิเศษ Top Performance จากการขับเคลื่อนงานที่ครอบคลุมทั้งระบบ นำโดย รศ.ดร.ชูพันธุ์ รัตนโภคา ผู้อำนวยการสำนัก ที่ได้รับรางวัลผู้นำองค์กรระดับดีเด่น พร้อมสร้างสรรค์นวัตกรรม “ICIT Health DEE Together Application” ที่ได้รับรางวัลดีเด่น สะท้อนความสำเร็จในการพัฒนาองค์กรสุขภาพดีทั้งด้านนโยบาย การพัฒนานวัตกรรม และการมีส่วนร่วมของบุคลากร
ทั้งนี้ เกณฑ์การพิจารณารางวัล Healthy Organization Award แบ่งเป็น 4 ประเภทหลักได้แก่ ๑) รางวัลผู้นำองค์กร พิจารณาจากการสนับสนุนนโยบายและการมีส่วนร่วม ๒) รางวัลทีมผู้นำสุขภาพ ดูจากความรู้และการทำงานเป็นทีม ๓) รางวัลกระบวนการดำเนินงาน พิจารณาการวางแผนและติดตามผลตามวงจร PDCA และ ๔) รางวัลนวัตกรรม มุ่งเน้นการพัฒนาเครื่องมือหรือวิธีการใหม่ๆ โดยแต่ละประเภทแบ่งระดับรางวัลเป็นยอดเยี่ยม ดีเด่น และดี นอกจากนี้ยังมีรางวัลพิเศษ Top Performance สำหรับองค์กรที่มีผลงานโดดเด่นครบทุกด้าน และ Best Design Thinking Creator สำหรับการใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบอย่างสร้างสรรค์