คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตร จัดบรรยายพิเศษ เรื่อง “สันติภาพและการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์” สร้างแรงบันดาลใจอาจารย์-นิสิต ได้สัมผัสนักวิจัยโนเบล กระตุ้นผลิตผลงานวิจัยสู่สากล ฉลองโอกาสครบ 80 ปี สถาปนามหาวิทยาลัย มั่นใจคนไทยฝีมือเทียบชั้นเวทีโลก พร้อมแนะไทยควรเน้นการสร้างผลงานวิจัยด้านความยั่งยืน ชี้นักวิจัยไทยยังขาดงบสนับสนุน
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า คณะเศรษฐศาสตร์ได้เชิญศาสตราจารย์ฟินน์ อี. คิดแลนด์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2547 จากผลงานด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคเชิงพลวัต : ความสม่ำเสมอของนโยบายเศรษฐกิจและแรงขับเคลื่อนเบื้องหลังวัฎจักรธุรกิจ มาบรรยายพิเศษ ซึ่งถือเป็นเป็นการจัดโครงการระดับนานาชาติ และโดดเด่นระดับโลก ทำให้มหาวิทยาลัยเป็นที่รู้จักในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
“เราหวังจะสร้างระบบนิเวศน์ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคณะอาจารย์ในการทำงานวิจัยระดับโลก สร้างงานวิจัยที่มีโอกาสได้รับรางวัลโนเบลได้ ได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์ในการทำงานของศาสตราจารย์ฟินน์ อี. คิดแลนด์ ที่ผ่านมา ม.เกษตรฯ ก็มีการสร้างผลงานวิจัยที่โดดเด่น ทั้ง ด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์ทรัพยากร เศรษฐศาสตร์สหกรณ์ และส่งนักวิจัยไปทำงานกับองค์กรระดับโลก อย่างเช่น การส่งนักวิจัยและอุปกรณ์ร่วมงานกับ NASA การส่งนักวิจัยร่วมงานกับJICA ด้านไบโอฟู้ดส์ ถือเป็นการทำงานวิจัยระดับโลก ขณะที่นักวิจัยด้านเศรษศาสตร์ของไทยถือว่ามีความโดดเด่น แต่การสนับสนุนงบประมาณยังมีจำกัดและไม่ต่อเนื่อง ทำให้นักวิจัยไม่สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ผลงานวิจัยจึงไม่โดดเด่นเหมือนกับนักวิจัยในต่างประเทศ”
ดร.จงรัก กล่าวพร้อมแจงถึงนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ควรเป็นนโยบายที่มั่นคงและดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อในระยะยาวจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
“การมีความมั่นคงและต่อเนื่องทางด้านนโยบายทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะส่งผลต่อเรื่องงบประมาณด้วย ด้านงานวิจัยก็เป็นเรื่องต้องการความต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งประเทศไทยควรมีงานวิจัยที่โดดเด่นในเรื่องความยั่งยืน ด้านภูมิอากาศโลก ด้าน Carbon Neutral การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ โดยควรมีการเชื่อมโยงนโยบายทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน มีการสร้างนโยบายที่มีความเข้มแข็ง จะทำให้ประเทศไทยโดดเด่นและมีความมั่นคง ด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและด้านการเงิน ทำให้สังคมไทยไม่เกิดความขัดแข้งด้านทรัพยากร”
ด้าน ผศ.ศาสตราจารย์ ดร.วิศิษฎ์ ลิ้มสมบุญชัย คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเสริมถึงนโยบายเศรษฐกิจที่ดี ควรประกอบไปด้วย 5 ข้อหลัก คือ 1.สร้างอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 2.มีเสถียรภาพ 3.มีความเท่าเทียม 4.มีการใช้เงินคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ และ 5.มีความยั่งยืน
“นโยบายระยะสั้นสามารถทำได้ ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่มันทำได้ระดับหนึ่ง ถ้าเราพัฒนาเศรษฐกิจเน้นกระตุ้นระยะสั้น เน้นการเติบโตแบบรวดเร็ว ฉับพลัน อาจจะส่งผลให้เกิดคนรวยกระจุกและคนจนกระจาย มันก็ไม่ดี หลายอย่างต้องมองกันระยะยาว หากหวังผลระยะสั้นจะเป็นปัญหาระยะยาว การกระตุ้นเศรษฐกิจถ้าเน้นระยะสั้นมากๆ แล้วระยะยาวจะเป็นอย่างไร ผมไม่ได้ว่าไม่ดีนะ ทุกอย่างมันมีสองด้าน เราต้องบาลานซ์ข้อดีข้อเสีย เราต้องพิจารณาว่าถ้าได้เศรษฐกิจระยะสั้น แต่มันคลอนแคลนในระยะยาวเราจะเอาไหม หรือระยะสั้นเศรษฐกิจไม่ต้องเติบโตมาก แต่ดีในระยะยาวจะเอาหรือไม่”ผศ.ศาสตราจารย์ ดร.วิศิษฎ์ กล่าว
ขณะที่ศาสตราจารย์ฟินน์ อี. คิดแลนด์ กล่าวว่า นโยบายที่กระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ต้องเป็นนโยบายที่มีความน่าเชื่อถือ เกิดการผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริงในระยะยาว “จากประสบการณ์พบว่า ประเทศในบางภูมิภาคที่มีการผลักดันนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง นโยบายนั้นก็ประสบความสำเร็จ ส่วนความท้าทายของภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน เป็นเรื่องที่จะทำอย่างไรให้ภาวะเศรษฐกิจยังคงขยายตัวต่อไปได้? เพราะหากเศรษฐกิจมีการขยายตัวที่ดี จะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น เป้าหมายสำคัญของนักเศรษฐศาสตร์ จึงต้องใส่ใจในเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจ”
ทั้งนี้ ศ.คิดแลนด์ ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับบทบาทของนโยบายการเงินที่ส่งผลต่อวัฏจักรธุรกิจและการจัดการนโยบายรัฐอย่างเหมาะสม โดยงานวิจัยนี้มุ่งศึกษาแนวคิดที่ว่ารัฐบาลต้องมีพันธกิจที่จะสร้างนโยบายเศรษฐกิจที่จะส่งผลดีต่อประเทศในระยะยาว ผ่านการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคโลกาภิวัตน์และการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสันติภาพ ทฤษฎีต่าง ๆ ของเขาล้วนส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจที่จะช่วยพัฒนาการค้าระดับประเทศและระดับโลกและทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น