หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รับมอบใบรับรองระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ตามมาตรฐาน ISO14001:2015 จากบริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะหอสมุดที่ดำเนินงานโดยตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการสิ่งแวดล้อม พร้อมยกระดับองค์กรให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ยังมีพิธีเปิดห้องประชุมกลุ่มย่อย (Study room) และนวัตกรรมบริการ เพิ่มความทันสมัย ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ ตอกย้ำความเป็นหอสมุดแห่งนวัตกรรมและความยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจาก รศ. เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานในพิธีรับมอบใบรับรองระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม
ผศ. เอกรินทร์ ยลระบิล ผู้อำนวยการหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้รับมอบใบรับรองมาตรฐานระบบ ISO14001:2015 จากการตรวจประเมินของบริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด องค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบ การทดสอบ และการรับรองระบบ ซึ่งนับเป็นห้องสมุดแห่งแรกของไทยที่ผ่านการรับรองดังกล่าว โดยหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีเป้าหมายในการเป็นหอสมุดแห่งนวัตกรรมและความยั่งยืนด้วยมาตรฐานระดับสากล จึงนำระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน ISO14001:2015 เข้ามาบริหารควบคู่กับงานภายในองค์กร รวมไปถึงการสร้างความตระหนักในเรื่องของสิ่งแวดล้อมให้แก่คนรุ่นใหม่ เพื่อการเป็นหอสมุดแห่งคุณภาพและความยั่งยืนของประชาคมธรรมศาสตร์”
หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บริหารงานโดยการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ดำเนินตามแนวทาง 4 ป. ได้แก่ 1.การปกป้องสิ่งแวดล้อม 2.การป้องกันมลพิษและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะเกิดจากกิจกรรมการดำเนินงานของหอสมุดฯ ทั้งทางตรงและทางอ้อม 3.การปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ ตลอดจนข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้านสิ่งแวดล้อม 4. ปรับปรุง พัฒนาระบบบริหารคุณภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนส่งเสริมให้บุคลากรมีความรู้ ความเข้าใจ และสร้างการตระหนักรู้ เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่ดีในการบริหารคุณภาพและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ทางหอสมุดยังได้เล็งเห็นความสำคัญของการปรับปรุงและพัฒนานวัตกรรมบริการต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักศึกษา ด้วยการเพิ่มจำนวนห้องและปรับปรุงห้องประชุมกลุ่มย่อย (Study room) ของหอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ พร้อมปรับปรุงสภาพแวดล้อม วัสดุ อุปกรณ์ภายใน พร้อมมีระบบเทคโนโลยีเพื่อการช่วยเหลือ (Assistive Technology) ในการจองห้องสมุดผ่านการใช้เสียง สำหรับนักศึกษาที่มีข้อจำกัดด้านการมองเห็น และเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มนักศึกษาที่มีความบกพร่องทางร่างกาย เพื่อตอบสนองต่อการเข้าถึงบริการของนักศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน สนับสนุนในการพัฒนาศักยภาพและกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น เป็นการยกระดับความความพึงพอใจของผู้ใช้บริการให้สูงยิ่งขึ้น
ภายในงานยังได้รับความรู้จากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ในหัวข้อ ห้องสมุดกับการเรียนรู้ยุค 4.0 สภาวะโลกร้อน และความยั่งยืน ที่กล่าวไว้ว่า “การเรียนรู้ยุค 4.0 ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ผ่านสมาร์ทโฟนหรือโซเชียลมีเดีย เรายังคงต้องมีห้องสมุด แต่ห้องสมุดจะต้องไม่ใช่แค่ที่เก็บหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นพื้นที่ที่สามารถเชื่อมต่อการเรียนรู้ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ทำให้ผู้คนออกจากโลกเสมือนจริงมาเจอกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะสถานการณ์ในปัจจุบันที่อยู่ท่ามกลางภาวะโลกร้อน สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เราทุกคนกำลังเผชิญเผชิญหน้ากับหายนะและการสูญพันธ์ครั้งใหญ่ ซึ่งการเรียนรู้และการลงมือร่วมกันแก้ไขปัญหา จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมถือเป็นประเด็นที่ผู้คนทั้งโลกให้ความตระหนัก อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังมุ่งสู่ความเป็นหอสมุด 4.0 แห่งนวัตกรรมล้ำสมัย ใส่ใจคุณภาพบริการเพื่อนักศึกษาและสิ่งแวดล้อม พร้อมเป็นต้นแบบให้แก่ห้องสมุดทั่วประเทศ โดยเริ่มต้นจากภายในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สามารถส่งเสริมกระบวนการดังกล่าวสู่การก้าวหน้าพัฒนาอย่างยั่งยืน