16 กันยายน 2564 – กรุงเทพฯ / สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในด้านการส่งเสริมและพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมในพื้นที่ย่านนวัตกรรมอารีย์ ร่วมกับ 17 พันธมิตร แบ่งเป็นภาคเอกชน 7 หน่วยงาน ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในเครือ AIS, บริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จํากัด (มหาชน), โรงพยาบาลวิมุต, เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล และศูนย์เร่งรัดวิจัยและนวัตกรรมเอกชน, บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด, และบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด มหาชน ภาคประชาสังคม 1 หน่วยงาน ได้แก่ AriAround Community กลุ่มสมาคมผู้ประกอบการ 2 หน่วยงาน ได้แก่ สมาคมไทยไอโอที และสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ภาคการศึกษา 4 หน่วยงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ภาคการเงินการลงทุน 3 ได้แก่ Invent, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารออมสิน โดยมี NIA เป็นตัวแทนองค์กรภาครัฐ เพื่อร่วมกันหาแนวทางส่งเสริมการใช้นวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในย่านและบริเวณใกล้เคียง ทั้งด้านผลิตภัณฑ์ บริการ สภาพแวดล้อม และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการสร้างโมเดลการพัฒนาพื้นที่อารีย์ให้เป็น “ศูนย์กลางการพัฒนาย่านนวัตกรรมอารีย์ (ARI Innovation District)” ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึกในสาขาอารีเทค (ARI Tech) ซึ่งประกอบด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI), การพัฒนาเครื่องจักรกลขั้นสูง (Robotics), เทคโนโลยความเป็นจริงเสมือน (Immersive) และการเชื่อมโยงหรือส่งข้อมูลด้วยระบบอินเทอร์เน็ต (IoTs) นับเป็นอีกหนึ่งย่านนวัตกรรมที่เกิดจากการขับเคลื่อนของภาคเอกชนที่เห็นความสำคัญของ “นวัตกรรม” ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีต่อระบบนวัตกรรมไทยในอนาคต
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า “นวัตกรรม” เป็นกุญแจสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกและสามารถช่วยเร่งการเติบโตของประเทศได้อย่างรวดเร็ว NIA ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมพัฒนาย่านนวัตกรรม เพื่อสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมต่อการสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมและตอบโจทย์การใช้ชีวิตวิถีใหม่ รองรับการเติบโตของนวัตกร ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และสตาร์ทอัพให้รวมกลุ่มกันเป็นคลัสเตอร์ ก่อให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับประเทศได้อย่างมหาศาล ซึ่งนวัตกรและกลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและนำพาประเทศไทยเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 อย่างแท้จริง
“ย่านนวัตกรรม” จะเป็นพื้นที่สำหรับทดลองธุรกิจใหม่ๆ และเป็นแหล่งรองรับธุรกิจนวัตกรรมหลากหลายด้านในอนาคตของประเทศไทย เช่น การแพทย์ ยานยนต์สมัยใหม่ อสังหาริมทรัพย์ ไลฟ์สไตล์ เป็นต้น โดยใช้พื้นที่เศรษฐกิจภายในเมืองซึ่งมีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐลงทุนไว้แล้ว และดึงเอกลักษณ์ทั้งในเชิงวิถีชีวิต การพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม และองค์ความรู้จากหน่วยงานทุกภาคส่วนมาเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นวัตกรได้ผลิตและใช้นวัตกรรมสำหรับเพิ่มมูลค่าธุรกิจและคุณภาพชีวิต ดังนั้น ย่านนวัตกรรมนี้จะเป็นตัวเชื่อมเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตตั้งแต่ระดับย่านไปจนถึงระดับประเทศ
“ความร่วมมือในการพัฒนาย่านนวัตกรรมอารีย์ในวันนี้ เป็นอีกหนึ่งย่านที่ขับเคลื่อนจากความต้องการของภาคเอกชนที่เห็นความสำคัญของนวัตกรรม ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดีต่อระบบนวัตกรรมไทยในอนาคต และทาง NIA พร้อมผลักดันและสนับสนุนการดำเนินงานพัฒนาการวิจัยภายในย่านนวัตกรรมอารีย์อย่างเต็มที่ เพื่อให้มีศักยภาพในการต่อยอดสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้และศูนย์กลางสร้างสรรค์นวัตกรรมแห่งใหม่ใจกลางเมือง โดยเฉพาะเทคโนโลยีเชิงลึกด้าน ARI Tech ที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรม เพื่อนำพาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับประเทศ” ดร.พันธุ์อาจ กล่าว
ด้านนายอราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนนวัตกรรม AIS กล่าวว่า “เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับโอกาสจาก NIA มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างย่านนวัตกรรมอารีย์ หรือ ARI Innovation โดย AIS ในฐานะ Digital Life Service Provider และเป็นสมาชิกของย่านอารีย์และถนนพหลโยธิน มองเห็นถึง Impact ของแนวคิดนี้มากว่า 2 ปี เคยได้ชักชวนพันธมิตร องค์กรต่างๆ ร่วมเป็นภาคีเครือข่าย โดยเริ่มที่การดูแลสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการ กรีนพหลโยธิน ซึ่งเป็นเสมือนต้นแบบของความร่วมมือที่จะปลูกจิตสำนึกการจัดเก็บขยะ Electronics หรือ E-Waste พร้อมส่งต่อองค์ความรู้เพื่อทำให้ย่านอารีย์และพหลโยธินกลายเป็นพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน
วันนี้เราจึงขออาสาทำหน้าที่อีกครั้งในการร่วมกับ NIA เป็นแกนกลางพร้อมนำจุดแข็งของเอไอเอส มาร่วมสนับสนุน ดิจิทัล แพล็ตฟอร์มในโครงการ “ย่านนวัตกรรมอารีย์ – ARI Innovation District” พร้อมเชิญพันธมิตรในย่านอารีย์-พหลโยธิน-สะพานควาย เพื่อพัฒนาพื้นที่ย่านอารีย์ให้เป็น ดิจิทัลแพลตฟอร์มที่เอื้อให้เกิดระบบนิเวศน์นวัตกรรมอย่างยั่งยืน ภายใต้วิสัยทัศน์ “อารีย์ 2025 ก้าวสู่เมืองฉลาดรู้ที่สามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตยุคใหม่” โดยขอยืนยันว่า จะนำจุดแข็ง ทุกสรรพกำลังของเอไอเอส เข้ามาสนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มที่แน่นอน เชิงเทคนิคก็จะเป็น Platform AI, IoT, 5G หรือเชิง Soft Skill เบื้องต้นที่ทำได้ทันทีตั้งแต่วันนี้คือ การ sharing knowledge จาก AIS Academy”