
เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ Infineon Technologies Asia Pacific Pte. Ltd. (สิงคโปร์) ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ของไทย ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนากำลังคนและ startup ที่เน้นเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนา ecosystem ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ สกสว. และ Mr. Foo Yoon Fatt Francis, Vice President, Asia Pacific Regional Marketing Head for Industrial & Infrastructure (I2) and Consumer, Computing & Communication (C3) sales segment เป็นผู้ลงนาม และมี ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม, ศ.ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ Mr. Chee Seong Chua President, Infineon Technologies Asia Pacific Pte. Ltd. ร่วมเป็นสักขีพยานภายในพิธีลงนามความเข้าใจดังกล่าว ณ The Athenee Hotel Bangkok
การลงนาม MOU ในครั้งนี้ มีระยะเวลาความร่วมมือ 5 ปี โดย Infineon Technologies Asia Pacific Pte. Ltd. สิงคโปร์ คาดการณ์ว่าร่วมสนับสนุนงบประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี in-cash รวมถึงสนับสนุนกลไกอื่นๆ และความเชี่ยวชาญของบริษัท ในขณะที่ สกสว. จะจัดสรรงบประมาณผ่านหน่วยบริหารจัดการทุน (PMU) เพื่อการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีศักยภาพในระดับสากลและตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ โดยการใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและผู้ประกอบการนวัตกรรมด้านเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์
ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า การลงนาม MOU ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ Infineon Technologies Asia Pacific Pte. Ltd. เป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไทย โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยี สนับสนุนสตาร์ทอัพ และยกระดับความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรม เพื่อต่อยอดงานวิจัยสู่ตลาดโลก ความร่วมมือนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องการผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
โดยวัตถุประสงค์ของการลงนามความเข้าใจในครั้งนี้ ประกอบด้วย
1) พัฒนาระบบนิเวศน์ของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ สำหรับสตาร์ทอัพและ SME ของไทย ผ่านเครือข่ายของบริษัท Infineon สิงคโปร์ โดยการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงห่วงโซ่อุปทานทรัพยากร และความเชี่ยวชาญของบริษัท เพื่อช่วยให้กลุ่มสตาร์ทอัพและ SME สามารถขยายกิจกรรมทางธุรกิจไปได้ทั่วโลก
2) ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยี และบุคลากรทักษะสูงในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ ของประเทศไทย ผ่านความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย กับบริษัท Infineon สิงคโปร์
3) สร้างกลไกและร่วมกันผลักดันให้นวัตกรรมด้านเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ ที่พัฒนาโดยคนไทยให้สามารถขายได้ในตลาดโลก โดยร่วมกันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านดิจิทัล ส่งเสริมให้เกิดการร่างมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์สำหรับประเทศไทย ตลอดจนการนำนวัตกรรมที่พัฒนาแล้วออกสู่ตลาดโลก
ทั้งนี้ การลงนามความร่วมมือดังกล่าว คาดหวังว่าจะเกิด Startup จำนวนอย่างน้อย 5 บริษัทที่ได้รับการพัฒนา เกิดศูนย์วิจัยเฉพาะทางด้านเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย กับบริษัทฯ อย่างน้อย 5 แห่ง และเกิดการพัฒนา 5 เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จนสามารถผลักดันเข้าสู่ตลาดได้จริง