วิกฤตขยะพลาสติกกลายเป็นปัญหารุนแรงที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญและต้องเร่งแก้ไข ร่วมมือกัน เพราะขยะพลาสติกได้สร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำ โดยเฉพาะขยะทะเล สำหรับประเทศไทย ขยะพลาสติก ติดอันดับ 5 ของโลก หรือคิดเป็น 2 ล้านตันของปริมาณขยะทั้งหมด ที่น่ากังวลคือ ขยะพลาสติกสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ปีละ 0.5 ล้านตัน ที่เหลือ 1.5 ล้านตัน ถูกนำไปกำจัดด้วยวิธีฝังกลบและเผาทำลาย บางส่วนตกค้างในสิ่งแวดล้อม แต่ละปีมีขยะพลาสติกไหลลงทะเลจำนวนมาก กลายเป็นแพขยะในทะเลขนาดใหญ่ สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อมนุษย์ สัตว์และระบบนิเวศเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการรับสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายด้วยการหายใจ การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อน การกินขยะพลาสติกของนกและปลาในทะเล รวมทั้งการสะสมของไมโครพลาสติกในดินหรือแหล่งน้ำ และผลพวงขยะพลาสติกที่เป็นปัญหา ส่วนหนึ่งเกิดจากการจัดการขยะไม่ถูกวิธี
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า “นอกจากการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการจัดการขยะพลาสติกแล้ว เรายังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องคำนึงถึงด้วย เช่น ระยะเวลาในการย่อยสลายพลาสติกแต่ละประเภท พฤติกรรมการใช้พลาสติกของผู้บริโภค ความสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจจากการไม่ได้นำมาใช้ใหม่ เป็นต้น ดังนั้น หนทางที่จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ในระยะยาว คือการลดขยะพลาสติกโดยนำมารีไซเคิลและใช้ซ้ำเพิ่มขึ้น และเพื่อให้เยาวชนและคนไทยตระหนักถึงวิกฤตขยะพลาสติก ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศ มนุษย์และสัตว์ และเรียนรู้การจัดการขยะพลาสติกอย่างถูกวิธีด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จึงได้จัดแสดงนิทรรศการ “พลาสติกพลิกโลก” (Plastic Change the World) ภายในงาน มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2562 ขึ้น
โดยนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับขยะพลาสติกซึ่งเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมค้นหาคำตอบว่าทำไมพลาสติกสารพัดประโยชน์จึงกลายเป็นผู้ทำลายสิ่งแวดล้อมและกำลังกลับมาทำร้ายมนุษย์ ใครคือผู้ร้ายตัวจริง และเราจะช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกล้นเมืองได้อย่างไร” ภายในนิทรรศการชุดนี้ ประกอบด้วย 3 โซน โซนที่ 1 พลาสติกพลิกโลก เพื่อให้มนุษย์เรียนรู้การนำวัสดุในธรรมชาติมาใช้ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อกาลเวลาผ่านไปความต้องการของมนุษย์มีแต่จะเพิ่มขึ้นจนทรัพยากรธรรมชาติไม่เพียงพอต่อความต้องการ วัสดุราคาถูก สารพัดประโยชน์อย่างพลาสติกจึงเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์และลดการทำลายสิ่งแวดล้อม ยิ่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้า พลาสติกก็ยิ่งมีบทบาทมากขึ้น รู้หรือไม่ตอนนี้บนโลกของเรามีพลาสติกกี่ชนิด แล้วยังมีสิ่งใดบ้างที่ไม่ได้ผลิตด้วยพลาสติก Hilight: กิจกรรมทดสอบคุณสมบัติวัสดุต่างๆ
เพื่อหาคำตอบว่าทำไมพลาสติกจึงเป็นวัสดุสารพัดประโยชน์ ร่วมกันตามหาสิ่งของในชีวิตประจำวันที่พบได้ที่บ้าน โรงเรียน โรงพยาบาล มีอะไรบ้างที่ไม่มีส่วนผสมของพลาสติก และมาคำนวณว่าในแต่ละวันเราใช้และทิ้งพลาสติกกี่ชิ้น โซนที่ 2 -ๆพลาสติกพลิกผัน เพราะผลิตง่าย จึงผลิตมาก ใช้มาก ทิ้งมาก แต่ย่อยสลายยาก พลาสติกจึงพลิกผันจากวัสดุสารพัดประโยชน์กลายเป็นขยะ กระจายไปทั่วทุกที่บนโลกไม่ว่าจะแม่น้ำ ยอดเขา มหาสมุทรลึกล้วนมีพลาสติกทั้งขนาดใหญ่ที่มองเห็นได้ด้วยตา และขนาดเล็กยิ่งกว่าปลายเข็ม ทำไมพลาสติกจึงกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่กำลังจะกลับมาหาเรา โดยที่เราไม่รู้ตัว จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อพลาสติกอยู่ทุกที่ แม้กระทั่งในลำไส้ของเรา Hilight: กิจกรรมส่องกล้องมองพลาสติกเพื่อดูพลาสติกจิ๋ว
ส่วนจัดแสดงภาพถ่ายผลกระทบของพลาสติกต่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเต่าทะเลสตัฟฟ์ และแมงกระพรุนซึ่งเป็นอาหารของเต่าเปรียบเทียบกับพลาสติกซึ่งลอยในน้ำ ที่แม้มนุษย์เราจะแยกออกแต่เต่าไม่สามารถแยกได้ โซน 3 พลาสติกพลิกโฉม ปัญหาขยะพลาสติกไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาที่เราทุกคนทั่วโลกต้องร่วมมือกัน ร่วมเรียนรู้เพื่อค้นพบวิธีการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในแบบของตัวเองผ่านเรื่องราวของคนจากประเทศต่างๆ และคนจากหลากหลายอาชีพที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้ ทั้งพลาสติกชีวภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ธุรกิจรีไซเคิลและเทคโนโลยีอัพไซเคิลที่เปลี่ยนพลาสติกเป็นวัตถุดิบกลับสู่กระบวนการผลิต งานวิจัยที่เปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง และการค้นพบสิ่งมีชีวิตที่สามารถย่อยพลาสติกได้ Hilight: พบกับผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีและงานวิจัยใหม่ๆ มากมายที่ได้รับการร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วนนำมาจัดแสดงเพื่อให้เห็นความตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกที่โลกกำลังเผชิญ
พบกับนักนวัตกรรมจากหน่วยงานต่างๆ ที่จะมาให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้เข้าชม นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมทำขวดน้ำกินได้ ให้ผู้เข้าชมได้ทำเอง ชิมเองอีกด้วย งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-25 สิงหาคมนี้ ณ อาคาร 6-12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี เปิดให้เข้าชมงาน ตั้งแต่เวลา 09.00-19.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชมติดตามข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดงาน ได้ที่ www.thailandnstfair.com หรือ Facebook : มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (@thailandnstfair) หรือสอบถามข้อมูลที่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ โทร. 0 2577 9960