เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2562 – ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้เกียรติเยี่ยมชมงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2562” ที่จะจัดขึ้นจนถึงวันที่ 25 สิงหาคมนี้ ที่อาคาร 6-12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี พร้อมให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงความสำคัญของการเรียนรู้นอกห้องเรียนว่า ปัจจุบันเราอยู่ในโลกที่ถูก Disrupt ด้วยกระแสหลักทั้งกระแสโลกาภิวัฒน์และกระแสการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งทำให้โลกก้าวสู่ยุค VUCA (วูค่า) ที่มีการผันผวนสูง (Volatility) ไม่แน่นอน (Uncertainty), ซับซ้อน (Complexity) และไม่ชัดเจน (Ambiguity) จะเห็นได้ว่าโลกในยุคปัจจุบันนั้นไม่ง่าย แต่วิธีการที่จะรับมือกับความโกลาหลนี้จำเป็นต้องอาศัยความเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มต้นจากตัวของเราเอง เพราะถ้าวันนี้เรายังไม่เปลี่ยนแปลง สักวันโลกจะบังคับให้เราต้องเปลี่ยนแปลงเองอยู่ดี ดังนั้น การเตรียมคนของเราให้พร้อมเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 จึงเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญของกระทรวง อว. ทำให้คนในประเทศมีความรู้และการศึกษาเพื่อให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การศึกษาที่เน้นประสบการณ์นอกห้องเรียนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะการได้เห็น สัมผัส ได้ขยายประสบการณ์เรียนรู้นอกจากในห้องเรียน จะช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจ เกิดทักษะ เกิดแรงบันดาลใจ และมีแรงจูงใจในการเรียน ซึ่งนับเป็นการปลูกฝังคุณลักษณะของการเป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิตอีกด้วย
เรามีแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนมากมาย อย่างที่ อพวช. มีพิพิธภัณฑ์ให้เรียนรู้ถึง 4 แห่ง หรือภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2562 นี้ ก็ถือเป็นการศึกษานอกห้องเรียนที่มีลักษณะเป็นสหวิทยาการที่บูรณาการศาสตร์ต่างๆ เข้าด้วยกัน จะช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์ในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะที่สำคัญๆ ตั้งแต่ทักษะการสังเกต การตั้งคำถาม การคิดเชิงวิจารณญาณ การแก้ปัญหา ทักษะการสื่อสาร การทำงานร่วมกันและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนการคิดในระดับสูงซึ่งเป็นแนวคิดหลักของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
งานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ คือแหล่งเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ผ่านกิจกรรมต่างๆ มากมาย มีทั้งวิทยากรให้ความรู้ มีต้นแบบของคนเก่งๆ มีนิทรรศการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่จะช่วยจุดประกายต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เยาวชน รวมถึงอาจทำให้อีกหลายคนได้ค้นพบสิ่งที่ตนเองชอบหรือสนใจต่อไป ซึ่งต้องขอขอบคุณหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศทั้ง 17 ประเทศ 103 หน่วยงาน ที่ร่วมกันจัดงานนี้ เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และร่วมกันสร้างวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งจะช่วยนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาที่ก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอนาคต และเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ไทยหลุดพ้นกับดักสำคัญ 4 ด้าน คือกับดักรายได้ปานกลาง ความเหลื่อมล้ำ คุณภาพการศึกษาและความขัดแย้ง