23 สิงหาคม 2565 ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคาม อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ลงนามข้อตกลงความร่วมมือโครงการเพาะพันธุ์ดี NT Youth Club ร่วมกับ เทศบาลเมืองมหาสารคาม และ วิทยาลัยอาชีวมหาสารคาม พร้อมจัดพิธีเปิดโครงการ เพาะพันธุ์ดี NT Youth Club ชุมชนใหม่ของ ปี 2565 “ชุมชนตักสิลานคร จังหวัดมหาสารคาม” โดย นายธัญญวัฒน์ ชาญพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม, นายเสกสรรค์ มิตรเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มขายและผลิตภัณฑ์สื่อสารไร้สาย รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด NT เป็นประธานในพิธี โดยมี นายภาคิน ติระพงศ์ไพบูลย์ นายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม, นางทิพย์วรรณ อู่ทรัพย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคาม, นายวัฒนา สอาดดี โทรศัพท์จังหวัดมหาสารคาม เป็นผู้ลงนาม โดยมี เยาวชน, ผู้ประกอบการวิสาหกิจ และคนในชุมชน ร่วมในพิธี วัตถุประสงค์เพื่อต่อยอดโครงการเพาะพันธุ์ดี NT Youth Club มีการจัดอบรมให้ความรู้ทางด้านไอซีที เพื่อพัฒนาศักยภาพของเยาวชน ชุมชน ให้ใช้อินเทอร์เน็ตในการสร้างอาชีพ รายได้และประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของชุมชน พร้อมสอนการนำเทคโนโลยี IoT ไปประยุกต์ใช้และพัฒนาต่อยอดด้านการทำเกษตรกรรมยุคใหม่ สร้างเกษตรกรยุคดิจิทัล (Smart Farm) ผ่านระบบ Smart Farming ของNT เพื่อสร้างชุมชนต้นแบบในการใช้เทคโนโลยี IoT เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง
นายเสกสรรค์ มิตรเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มขายและผลิตภัณฑ์สื่อสารไร้สาย รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด NT กล่าวว่า บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) การเป็นองค์กรขนาดใหญ่ด้านโทรคมนาคม ดำเนินธุรกิจการให้บริการโทรคมนาคมและดิจิทัล มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชันต่างๆ สนับสนุนการพัฒนาประเทศร่วมกับภาครัฐ รวมถึงตอบสนองความต้องการของพันธมิตรและคู่ค้า ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม (Corporate Social Responsibility : CSR) โดยใช้แนวคิดการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Share Value : CSV) และเป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันนโยบาย Digital 4.0 ผ่านการเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลแก่ภาครัฐ และการบริหารโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมและดิจิทัลของชาติ
โดยกรอบแนวคิด CSR ของ NT มีการดำเนินการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยนำมาบูรณาการและปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ ดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยการนำความสามารถพิเศษหลักขององค์กร (Core Competency) สนับสนุนและเสริมสร้าง ความเข็มแข็งของชุมชนและได้จัดทำแผนงานที่ครอบคลุมการดำเนินงาน 2 แผนงานหลัก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนี้ แผนงานหลักที่ 1 การดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในกระบวนการ (CSR in Process) ขององค์กร แผนงานหลักที่ 2 การเสริมสร้างความเข็มแข็งของชุมชนสำคัญตามความสามารถพิเศษหลักขององค์กร (CSR after Process)
NT มีแผนดำเนินงานด้าน CSR ในปี 2565 ที่มีรูปแบบการดูแลสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม มีการดำเนินการ อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยพัฒนาชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยนำธุรกิจหลักของ NT ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาใช้กับงานด้าน CSR สามารถนำมาปรับใช้กับภาคชุมชนได้ เนื่องจาก NT มีประสบการณ์ด้าน IT และ Digital สามารถถ่ายทอดความรู้ ประยุกต์ใช้กับชุมชน เยาวชน ได้ต่อยอด ช่วยคิดวิเคราะห์ NT ตอบโจทย์สิ่งที่เรียกว่าความยั่งยืนได้
โครงการเพาะพันธุ์ดี NT Youth Club เป็นหนึ่งในกิจกรรมตามแผนแม่บทความรับผิดชอบขององค์กรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของ NT ตามแผนงานหลักที่ 2 (CSR after process) ตามแผนแม่บทความรับผิดชอบขององค์กรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ปี 2565–2569 มีการดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2556 จนถึงปัจจุบัน มีชุมชนเข้าร่วมโครงการเพาะพันธุ์ดี NT Youth Club แล้วกว่า 74 แห่งทั่วประเทศ ใน 68 จังหวัด
โดยในปี 2565 มีแผนการดำเนินงานเพิ่มชุมชนใหม่อีก 4 แห่ง ได้แก่ 1. ชุมชนตักสิลานคร จังหวัดมหาสารคาม 2. ชุมชนเทศบาลนครปฐม จังหวัดนครปฐม 3. ชุมชนโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร 4. ชุนชนเลยรักษ์ ฮักเลยจังหวัดเลย
การจัดกิจกรรมโครงการเพาะพันธุ์ดี NT Youth Club ปี 2565 สำหรับชุมชนใหม่ ประเดิมคัดเลือกให้จังหวัดมหาสารคาม เข้าร่วมกิจกรรมชื่อชุมชนว่า “ชุมชนตักสิลานคร” ภายใต้ผู้นำชุมชนระดับ เทศบาลเมืองมหาสารคาม และ วิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคาม การคัดเลือกชุมชนและเยาวชนเข้าร่วมโครงการ จังหวัดมหาสารคามได้ดำเนินการคัดเลือกชุมชนที่มีผู้นําให้ความสนใจในโครงการ เป็นชุมชนที่มีความพร้อมและสนใจที่จะเรียนรู้การใช้สื่ออินเทอร์เน็ต ให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนองค์กรท้องถิ่น
โครงการเพาะพันธุ์ดี NT Youth Club ประจำปี 2565 ชุมชนตักสิลานคร เป็นความร่วมมือกันของ เทศบาลเมืองมหาสารคาม วิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคาม และ NT ซึ่งความร่วมมือนี้ เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือซึ่งจะเป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศสร้างเศรษฐกิจให้ชุมชนตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และสอดรับกับวิสัยทัศน์ของ จังหวัดมหาสารคาม ส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับชุมชนตักสิลานคร โดยการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้อง ในสังคมยุคที่เข้าสู่ Digital Citizen และการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างปลอดภัยมีการอบรมด้านไอซีทีและเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับชุมชน เยาวชน
การทำสื่อออนไลน์ผ่าน Facebook, YouTube, Website, tiktok รวมถึงเทคนิคการถ่ายภาพ การตัดต่อ วิดีโอ การนำประโยชน์ของเทคโนโลยีดิจิทัล สร้างชุมชนต้นแบบในการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งเพิ่มศักยภาพ ทางเศรษฐกิจของชุมชน พร้อมกันนี้ยังได้สนับสนุนขยายตลาดให้กับชุมชน เนื่องด้วยปัจจุบันอินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีดิจิทัลและโซเชียลมีเดียเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตของประชาชนในปัจจุบัน พร้อมกันนี้มีกิจกรรมสาธิตพื้นที่เกษตรอัจฉริยะ มีการนำเทคโนโลยี IoT ไปประยุกต์ใช้และพัฒนาต่อยอดด้านการทำเกษตรกรรมยุคใหม่ สร้างเกษตรกรยุคดิจิทัล (Smart Farm) ผ่านระบบ Smart Farming ของ NT เพื่อสร้างชุมชนต้นแบบในการใช้เทคโนโลยี IoT เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง และสามารถแบ่งปันองค์ความรู้ความสำเร็จให้กับชุมชนอื่น หรือพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ในชุมชนต่อไป