(9 สิงหาคม 2565) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) นำโดย ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ จัดการ Pitching เพื่อการต่อยอดธุรกิจอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยการพัฒนาธุรกิจชีววิทยาศาสตร์นั้นจำเป็นที่จะต้องอาศัยทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะที่มีความลึกซึ้งและรายละเอียดสูงเพื่อดำเนินการให้ได้มาซึ่งนวัตกรรมที่เป็นผลิตภัณฑ์ (Product Innovation) หรือนวัตกรรมที่เป็นการให้บริการ (Service Innovation) ที่สำเร็จอย่างสมบูรณ์ได้ ดังนั้นการถ่ายทอดคุณค่าของผลิตภัณฑ์หรืองานวิจัย จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาและต่อยอดธุรกิจ ให้เกิดการรับรู้ ผลักดันและสร้างมูลค่าให้กับคุณค่าของผลงานที่นักวิจัยได้พัฒนางานขึ้นมาได้ ดังนั้นการจัดให้มีให้มีจับคู่เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักการตลาดและนักวิจัย จึงเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือ อันจะช่วยถ่ายทอดให้คุณค่าของผลิตภัณฑ์ด้านชีววิทยาศาสตร์สามารถต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้ อันจะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้มีการพัฒนาและมองเห็นโอกาสในการยกระดับมูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมนี้ได้ โดยมี ดร.พัชรินรุจา จันทโรนานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและ มาเป็นประธานในงานมอบรางวัล
สำหรับบริษัทที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางสาวฐิติพร มุขสมบัติ บริษัท เอ็มพีกรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตภัณฑ์ Alpha-Thalassemia เป็นอุปกรณ์ตรวจหาเชื้อ halassemia ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ สพ.ญ.วรางคณา พันธุ์วาณิช ลู่วิ่งในน้ำ Aquatrek Solution และรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ นายโสภณ นกนวม กลุ่มเครื่องมือแพทย์ บริษัทนำวิวัฒน์การช่าง (1992)
โครงการนี้ขึ้นเพื่อจัดให้มีกิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์และสุขภาพเพื่อออกสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาและส่งเสริมผลงานวิจัย อันเป็นพันธกิจหลักขององค์กรในด้านการเชื่อมโยงและนำพาเครือข่าย ร่วมกันพัฒนาธุรกิจและการลงทุน ให้พร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ตามยุทธศาสตร์ชาติ20ปี อันจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับทุกภาคส่วน ตลอดจนเครือข่ายในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ตามยุทธศาสตร์หลักขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทางด้าน ดร.พัชรินรุจา จันทโรนานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้สัมภาษณ์ในงานว่า ” อว.เป็นหน่วยงานที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนภายใต้การให้ทุน เราจะให้ทุนและก็เข้าไปช่วยผู้ประกอบการในการที่จะก้าวข้ามผ่านงานวิจัยจากกระดาษเข้าไปสู่การผลิตจริง ที่สามารถนำไปต่อยอดทางธุรกิจหรือว่านำไปต่อยอดในด้านอุตสาหกรรมได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้นอกจากให้ทุนแล้ว เรายังให้เรื่องของคำแนะนำในเรื่องกฎระเบียบและมาตรฐานต่างๆ ด้วย ก็สามารถเข้ามาขอคำปรึกษาจากอว. ได้ และทางอว.เอง มีการปรับการทำงานอยู่ตลอด เช่น ช่วงโควิดที่ผ่านมา เรามีโครงการที่ชื่อว่า “อว. พารอด” เรามีการรวมนวัตกรรมหรือสินค้าหรือเป็นผลิตภัณฑ์ทางสุขภาพของคนไทย ใส่ลงไปในกล่องที่ส่งไปให้กับประชาชนที่ทำการ Home Isolation อยู่ที่บ้าน เรียกได้ว่าประชาชนคนไทยได้ใช้สินค้านวัตกรรม การประดิษฐ์ การคิดค้นของคนไทยอย่างแท้จริงในช่วงนั้น”
ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวเสริมว่า “ประเทศไทยเรามีนวัตกรรมมากมายที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ โดยเฉพาะทางด้านเครื่องมือแพทย์ เช่นส่วนของทางด้านชุดตรวจต่าง ๆ ซึ่งรางวัลชนะเลิศที่ได้ก็เป็นชุดตรวจโรคโลหิตจาง ซึ่งก็ถือเป็นการพัฒนานวัตกรรมในระดับที่สามารถจะเข้าสู่ตลาดได้ เป็นสิ่งที่TCELSมองว่าถ้าผลักดันต่อไปอีกจะช่วยเพิ่มยอดขายและสามารถเข้าสู่ตลาดได้ ทำให้คนไทยได้ใช้และเข้าถึงนวัตกรรมของคนไทย มุ่งตอบโจทย์ในการเน้นพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในประเทศไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ซึ่งสิ่งที่เราดำเนินการ เราเน้นในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเครื่องมือแพทย์ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการใช้มากมายในประเทศไทย สังเกตุได้จากการระบาดของโควิด 19 ทำให้ประชาชนทั่วไปมีความรู้สึกว่า เรื่องโรคระบาดต่างๆมีความเกี่ยวข้องใกล้ตัวมาก ความสนใจและความต้องการเครื่องมือแพทย์จึงมีมากขึ้นมหาศาล เพราะฉะนั้นกลับกลายเป็นว่า การวิจัยทางด้านพัฒนาการแพทย์สุขภาพก็จะมีมากขึ้น แล้วเราก็มีการพัฒนาทางด้านนวัตกรรมต่าง ๆ ในประเทศเพิ่มมากขึ้น ผมว่ามันเป็นจุดแข็งที่นักวิจัยไทยสามารถพัฒนานวัตกรรมการแพทย์ในประเทศไทยเพื่อสุขภาพของคนไทยเราเอง เพื่อการระวังและป้องกันโรคได้อย่างแท้จริงครับ”
ที่ปรึกษารัฐมนตรี อว. ยังได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “ฝากถึงผู้ประกอบการคนไทยที่อยากจะพัฒนาสินค้าหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้อว. และกระทรวงของเราเข้าไปเป็นส่วนที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์หรือว่างานวิจัยของคุณสามารถนำไปต่อยอดเชิงธุรกิจได้จริง ก็สามารถเข้ามาขอรับคำปรึกษาจากหน่วยงานภายใต้อว.ได้”