กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จับมือ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) ร่วมกันยกระดับการพัฒนาธุรกิจบริการด้วยกิจกรรมการพัฒนาผู้นำธุรกิจสร้างสรรค์ หรือ REfuture (พลิกอนาคต) ด้วยการเตรียมความพร้อมและการเป็นพี่เลี้ยงธุรกิจบริการ Digital SMEs พาลงมือทำอย่างแท้จริง โดยภายในงานได้มีการประกาศรางวัลแก่ผู้ประกอบการที่พัฒนาธุรกิจบริการสร้างสรรค์ ที่ผ่านการคัดเลือกและพัฒนาจนได้ผู้ที่มีโมเดลธุรกิจยอดเยี่ยม จำนวน 13 ราย รวมทั้งจัดแสดงผลงานทางธุรกิจที่พัฒนาแล้วอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้แนวคิดการพลิกธุรกิจแบบ REconomy คือ การใช้ทรัพยากรทางธุรกิจที่มีอยู่อย่างจำกัดมาเพิ่มมูลค่าให้แข่งขันได้ในรูปแบบธุรกิจดิจิทัล สามารถทำกำไรได้ในระยะสั้น เหมาะกับธุรกิจ SMEs ที่ไม่ต้องการแข่งขันด้านราคา ด้วยแนวคิดนี้จึงทำให้สามารถพัฒนาธุรกิจได้หลากหลายมิติ อีกทั้งยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจาก MVP (Minimal Viable Product) ที่ถูกออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ ทำให้ธุรกิจมีความแตกต่างจากธุรกิจอื่นๆในตลาดได้อีกด้วย
นางวันเพ็ญ รัตนกังวาล ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในการมอบรางวัลให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมพัฒนาธุรกิจในโครงการพัฒนาผู้นำธุรกิจบริการสร้างสรรค์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจบริการ เนื่องจากเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตได้รวดเร็วหากได้รับแนวทางการพัฒนาธุรกิจที่ดี เพราะเป็นธุรกิจที่มีเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัว เลียนแบบได้ยาก การพลิกอนาคตธุรกิจบริการ จึงเป็นอีกทางเลือกในการพัฒนาประเทศไทยของเรา หากมีการสนับสนุนให้กลุ่มธุรกิจบริการเติบโตด้วยโมเดลธุรกิจที่มีความโดดเด่นแตกต่างอย่างสร้างสรรค์แบบดิจิทัลได้ คาดว่าจะช่วยสร้างธุรกิจใหม่ ๆ สอดคล้องกับยุค 4.0 ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้ดียิ่งขึ้น โดยภายในงานมีการมอบรางวัลแก่ผู้ประกอบการเจ้าของโมเดลธุรกิจบริการยอดเยี่ยม แบ่งรางวัลออกเป็น 4 หมวดหมู่ ได้แก่ รางวัลธุรกิจบริการพลิกโฉม รางวัลธุรกิจบริการสร้างสรรค์ รางวัลธุรกิจบริการพัฒนาคุณภาพชีวิต และรางวัลธุรกิจบริการน่าลงทุน
นายธนนนทน์ พรายจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) กล่าวว่า บทบาทของ ISMED คือ Business Deleveloper ซึ่งเป็นผู้สร้างทางเลือกที่หลากหลายในการพัฒนาธุรกิจ สถาบันฯ จะใช้รูปแบบเดิมๆ หรือ คิดว่าทุกธุรกิจต้องพัฒนาแบบเดียวกันไม่ได้ กระบวนการ REfuture หรือ การพลิกอนาคต จึงเกิดขึ้น และเป็นที่น่ายินดี ที่สถาบันฯ สามารถผลักดันให้เกิดธุรกิจบริการสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่มีตลาดรองรับได้ตั้งแต่ครั้งแรกทำโครงการ การพัฒนาธุรกิจสร้างสรรค์นั้นต้องใช้วิสัยทัศน์ผนวกกับความมุ่งมั่นในการค้นหาสิ่งใหม่ เพราะจะต้อง ต้องทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน ท่ามกลางความเชื่อเดิมๆ ซึ่งหากไม่ทำเช่นนี้ นวัตกรรมใหม่ๆ ก็คงจะไม่เกิดขึ้น แม้ไม่คาดหวังการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ แต่สถาบันฯ เชื่อมั่นว่ากระบวนการที่ออกแบบขึ้นจะช่วยให้ผู้ประกอบการเริ่มมีมุมมองและแนวคิดในการพลิกอนาคตธุรกิจตัวเอง ได้ลองทำสิ่งที่อยู่นอกเหนือไปจากเดิมเพื่อสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ ซึ่งหากเป็นไปตามแนวคิดดังกล่าวเมื่อสิ้นสุดโครงการผู้ประกอบการ จะพัฒนาธุรกิจต่อด้วยตัวเองได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
พร้อมกันนี้ภายในงานยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆมาร่วมเป็นกรรมการพิจารณาผลรางวัลครั้งนี้อีกด้วย อาทิ
1. คุณนพพร เทพสิทธา ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank)
2. คุณวัชรินทร์ วิทยวีรศักดิ์ ผู้จัดการสมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย
3. คุณภูวดล สุวรรณธารา ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรม
4. คุณไกรฤกษ์ ปิ่นแก้ว คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
5. คุณเพิ่มพล โพธิ์เพิ่มเหม บรรณาธิการ และผู้ก่อตั้ง นิตยสารมาร์เก็ตเธียร์ มาร์เก็ตเธียร์ออนไลน์
นายศรัล ดุรงค์เดช กรรมการผู้จัดการ บริษัท มาซูม่า เซอร์วิส จำกัด ผู้เข้าร่วมโครงการในประเภท ธุรกิจบริการสร้างสรรค์ กล่าวว่า โครงการนี้ทำให้ตนและทีมงานเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆของธุรกิจ เราเริ่มต้นจากการมองเห็นว่าเรามีอะไรที่คนอื่นไม่มี แล้วนำมาพัฒนาเป็น MVP ขึ้นมาชื่อ M Safe ระบบดูแลความปลอดภัยด้านไฟฟ้าลัดวงจรภายในห้องน้ำ ในช่วงเริ่มต้นเราต้องเร่งหาความเป็นไปได้ และ รีบอุดรูรั่วเพื่อทิ้งห่างคู่แข่งด้านเทคโนโลยีที่กำลังจะตามมา ภายในโครงการเราได้จับมือกับ Seekster แพลทฟอร์มด้านช่าง ที่จะอำนวยความสะดวกให้บริการลูกค้าของมาซูม่าอีกด้วย นับเป็นมิติใหม่ในการเข้าร่วมการพัฒนาธุรกิจของภาครัฐอย่างแท้จริง
นายนโรตม์ พิริยะรังสรรค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอชบี มิดเดิ้ล กรุ๊ป จำกัด ผู้เข้าร่วมโครงการประเภทธุรกิจบริการพลิกโฉม กล่าวว่า สิ่งที่ตนได้จากโครงการนี้ คือ ธุรกิจสามารถทำกำไรได้เพิ่มมากขึ้น และลูกค้าพึงพอใจมากขึ้น จากต้นทุนที่ต่ำลง การพลิกธุรกิจของตนไม่ได้เกิดจากการฝันถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แต่เกิดจากการที่ตนและหุ้นส่วนมองเห็นจุดเปลี่ยนเล็กๆในธุรกิจอย่างชัดเจน มันทำให้เรากล้าลงทุนกับการสร้าง MVP ระบบดิจิทัล Prework ที่เมื่อรวมกันซื้อแล้วเวิร์ก คือ ได้สินค้ามีมูลค่าในราคาถูกลง
นางสาวนพัฐกานต์ เกิดแสง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บ้านทิพย์รดาเอลเดอรี่แอร์ จำกัด ผู้ร่วมโครงการประเภทธุรกิจบริการเพื่อคุณภาพชีวิต กล่าวว่าธุรกิจดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นอัลไซมเมอร์มีจุดอ่อนเรื่องคน ถ้าเทียบกับตลาดที่โตมากขึ้นหากเราไม่มีแผนการรองรับธุรกิจ เราจะมีปัญหาอย่างแน่นอน เราจำเป็นต้องลดการพึ่งพาคนซึ่งเอาแน่นอนไม่ได้ และเพิ่มการพึ่งพาระบบ ตนมองหาแนวทางในการพัฒนาจนมาเข้าโครงการนี้ ทำให้ตนเจอระบบว่าหากเราใช้ปัญญานำทุนแล้ว เราจะสามารถสร้างธุรกิจดิจิทัลในรูปแบบใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ลูกค้าโดยใช้เงินทุนจำกัด และเราทำได้แล้วจริงๆ
นางสาวกมลรัตน์ แซ่ลิ้ม กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เค. เอ็น. เอสซันเดย์สปอร์แอนด์เทรดดิ้ง อีกหนึ่ง ผู้เข้าร่วมโครงการในประเภทธุรกิจบริการพลิกโฉม กล่าวว่า เรามองหาว่าเราจะไม่ต้องสู้ในสงครามราคาได้อย่างไร พอมาเข้าโครงการนี้ เราเห็นชัดเลยว่า เราต้องพลิกตัวเองมาเล่นในเกมใหม่ ไม่น่าเชื่อว่าเราใช้เวลาไม่กี่เดือนในการพัฒนา MVP ระบบป้องกันเด็กจมน้ำ SwimSafe ได้เรียบร้อย SMEs อย่างเราต้องเร็ว ถือว่าเป็นโครงการที่ดีกับผู้ประกอบการที่พร้อมจะเติบโต
พิธีมอบรางวัล REfuture Award 2018 แบ่งเป็น 4 รางวัล
1. รางวัลธุรกิจบริการพลิกโฉม จำนวน 4 รายได้แก่
รางวัลชนะเลิศ คุณนันทิดา จำปา
รางวัลรองชนะเลิศ คุณเกศกนก แก้วกระจ่าง
รางวัลรองชนะเลิศ คุณชณัญช์ภัค สังข์สุวรรณ
รางวัลรองชนะเลิศ คุณจักริน สิริกุลธร
2. รางวัลธุรกิจบริการสร้างสรรค์ จำนวน 4 รายได้แก่
รางวัลชนะเลิศ คุณศรัล ดุรงค์เดช
รางวัลรองชนะเลิศ คุณศุภกิจ กิตติพงศ์ธร
รางวัลรองชนะเลิศ คุณนัฐภูมิ โล่กันภัย
รางวัลรองชนะเลิศ คุณวาริท น้อยเกิด
3. รางวัลธุรกิจบริการพัฒนาคุณภาพชีวิต จำนวน 4 ราย ได้แก่
รางวัลชนะเลิศ คุณนิสิตา ปิติเจริญธรรม
รางวัลรองชนะเลิศ คุณนพัฐกานต์ เกิดแสง
รางวัลรองชนะเลิศ ว่าที่ รต.รอมฎอน สุทธิการ
รางวัลรองชนะเลิศ คุณธนชาพร เตชะสร้อยวริจฐ์
4. รางวัลธุรกิจบริการน่าลงทุน จำนวน 1 ราย
ได้แก่ คุณนันทิดา จำปา
รวมถึงการมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ประกอบการผู้ผ่านการพัฒนาโมเดลธุรกิจบริการสร้างสรรค์ จำนวน 41 ราย
ซึ่งในงานครั้งนี้ มีนักธุรกิจ และ นักลงทุน ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะมีการพัฒนาธุรกิจแล้วยังเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถศึกษาความเป็นไปได้ในการที่จะขยายธุรกิจร่วมกันกับ ผู้เข้าร่วมโครงการอีกด้วย
โครงการ REfuture พลิกอนาคต.com นี้เป็นโครงการนำร่องในการพัฒนาธุรกิจบริการรูปแบบใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการสร้างคุณค่า และมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ SMEs โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์และภูมิปัญญาแปลงเป็นทุนให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 โดยต้องการเห็นผลลัพธ์ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น ด้วยเงินลงทุนต่ำ แต่มีความคิดสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพสูง ผู้ประกอบการท่านใดที่สนใจจะเรียนรู้แนวคิด สามารถติดต่อได้ที่ https://www.facebook.com/refuturesme หรือ ที่ Line@ : @refuture