กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ประกาศจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา ครั้งแรกในไทย เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาในอนาคต ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูปสถาบันอุดมศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมอัพเดทการดำเนินโครงการ“พลิกโฉมมหาวิทยาลัย” (Reinventing University) ตามกลุ่มยุทธศาสตร์ 5 กลุ่ม ในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทย ทั้งภาครัฐและเอกชนตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยในปีที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยไปแล้วกว่า 50 % และมีมหาวิทยาลัยได้รับการคัดเลือก 17 มหาวิทยาลัย 15 โครงการ
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ อว.จัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา “กองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา” นับก้าวสำคัญของการปฏิรูปการเรียนระดับอุดมศึกษาของไทย ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้มหาวิทยาลัยคิดหรือได้ทดลองหลักสูตรใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะหลักสูตรที่เน้นเรื่องการปฏิบัติตามความต้องการของตลาด เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ประเทศได้มากขึ้น โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะภาคเอกชนให้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมการลงทุนหรือ บีโอไอ ได้มาร่วมทำหลักสูตรแซนด์บอกซ์กับ อว. เพื่อสร้างวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ ตามความต้องการของบริษัทที่มาขอรับการลงทุนในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EECi) เพื่อตอบสนองความต้องการของโลกยุคใหม่ เช่น Cyber Security นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล( Data scientist ) นักบูรณาการระบบในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ได้ในอนาคต
แนวคิดในการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา มุ่งเน้นผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพป้อนเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจรองรับการดิสทรัปชั่นอย่างรวดเร็ว (Disruptive change) และพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อตอบสนองความต้องการของคนทุกช่วงวัยให้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาตามความต้องการของผู้เรียนได้ โดยการจัดตั้งกองทุนฯ จะเข้ามาขับเคลื่อนและช่วยสนับสนุนภารกิจเฉพาะด้านในการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางให้สอดรับกับความต้องการของประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศไทย อาทิ ผลิตบัณฑิตและกำลังคนที่มีสมรรถนะและศักยภาพสูงเพียงพอต่อความต้องการของภาคส่วนต่างๆ ในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจสาขาใหม่ๆ และพัฒนาสังคมและชุมชนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก
ทั้งนี้การดำเนินงานการจัดตั้งของกองทุนฯ อยู่ระหว่างการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการให้ทุนกับภาคอุดมศึกษา ซึ่งจะใช้แหล่งงบประมาณตามมาตรา 45(3) งบพัฒนาความเป็นเลิศและการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทาง และงบประมาณตามมาตรา 45 (4) งบเข้ากองทุนให้กู้ยืมดอกเบี้ยต่ำให้แก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ซึ่งแตกต่างจากงบประมาณที่จัดสรรจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ที่มุ่งเน้นการพัฒนากำลังคนในสาขาที่ขาดแคลนหรือในพื้นที่เป้าหมาย
ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการขับเคลื่อนโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย(Reinventing University) ตามกลุ่มยุทธศาสตร์ 5 กลุ่ม ในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทย ทั้งภาครัฐและเอกชนตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรให้มีคุณภาพ เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เกิดการปฏิรูประบบอุดมศึกษา เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีความเป็นเลิศ และยกระดับคุณภาพการศึกษา ในด้านต่างๆ ได้แก่ 1. การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน ได้แก่ การพัฒนาเทคโนโลยีและระบบแวดล้อมเพิ่มคุณภาพการเรียนการสอนสมัยใหม่และเน้นประสิทธิภาพการเรียนรู้ในสถานการณ์โรคระบาดของ COVID-19 การพัฒนาหลักสูตรตามทิศทางของกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา เช่น หลักสูตรที่มีมาตรฐานระดับนานาชาติ หลักสูตรการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรม หรือหลักสูตรพัฒนาบุคลากรในท้องถิ่น 2.การพัฒนาบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา ได้แก่ การพัฒนาทักษะอาจารย์ เพื่อให้สามารถตอบสนอง ต่อการเรียนในศตวรรษที่ 21 การจ้างผู้เชี่ยวชาญการวิจัยระดับโลก ทั้งแบบเต็มเวลา (Full-time) และไม่เต็มเวลา (Adjunct & Visiting Scholar) 3.การยกระดับความเป็นนานาชาติ ได้แก่ เกิดการสร้างเครือข่ายกับสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำระดับโลก ในกลุ่มที่เกี่ยวข้องที่เป็นรูปธรรมในลักษณะ strategic partner และความร่วมมือที่สอดคล้องกับทิศทางและจุดเน้น ของสถาบันอุดมศึกษาและประเทศ เช่น การวิจัยร่วม การแลกเปลี่ยนบุคลากร นักศึกษา หลักสูตรร่วม 4.การสนับสนุนการบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม ได้แก่ การส่งเสริมระบบการบริหารและจัดการ ทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ การส่งเสริมให้แสวงหาทุนวิจัยระดับนานาชาติ และกิจกรรมความร่วมมือกับสถาบันวิจัยชั้นนำระดับโลก 5.การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงาน/เอกชน/ชุมชนตามกลุ่มยุทธศาสตร์และจุดเน้น สถาบันอุดมศึกษา ในลักษณะจตุรภาคี การรวมกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายหรือทิศทางของประเทศ ทั้งการสร้างความเป็นเลิศและกำลังคนร่วมกัน โดยในปีที่ผ่านมาการดำเนินโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยแล้วเสร็จไปกว่า 50 % และมีมหาวิทยาลัยได้รับการคัดเลือก 17 มหาวิทยาลัย 15 โครงการ