กระทรวงสาธารณสุข โดยกองบริหารการสาธารณสุข จัด การประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan Sharing) ครั้งที่ 8 และเป็นปีที่ครบรอบ 10 ปี
ในการดำเนินการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ พร้อมคัดเลือกผลงานและมอบรางวัลผลงานดีเด่นด้านวิชาการและนวัตกรรม 19 สาขา ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
วันที่ 22 สิงหาคม 2565 ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ กทม. นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan Sharing) ประจำปีงบประมาณ 2565 ภายใต้แนวคิด “ทศวรรษการพัฒนาระบบบริการสุขภาพก้าวไปด้วยกันเพื่อสร้างสรรค์ระบบบริการวิถีใหม่ (A Decade of Service Plan : Moving Together in the next normal)” โดยมีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขจากทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และภาคีเครือข่ายนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัย ราชวิทยาลัยฯ สมาคมวิชาชีพต่างๆ และบุคลากรสาธารณสุขเข้าร่วมประชุม แบบ Onsite จำนวน 1,000 คน และทางระบบออนไลน์ มีผลงานทางวิชาการแต่ละสาขา มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งมีการมอบรางวัลผลงานวิชาการดีเด่น 19 สาขา โดยคัดเลือกจากผลงานวิชาการและนวัตกรรมเด่นของทุกเขตสุขภาพ เพื่อเป็นต้นแบบในการทำงานและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สามารถนำไปปรับใช้ในเขตสุขภาพอื่น ๆ ต่อไป
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข
ได้มีการพัฒนาระบบบริการมาอย่างต่อเนื่อง ครบรอบเป็นปีที่ 10 ซึ่งในปัจจุบันได้เห็นผลการดำเนินงาน อย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เป็นที่ยอมรับ โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขในแต่ละเขตสุขภาพ สามารถให้บริการประชาชนภายในเขตสุขภาพได้ใกล้เคียงโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในกรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มการเข้าถึง และลดความเหลื่อมล้ำในการให้บริการ อาทิ การผ่าตัดหัวใจ การฉายรังสี การปลูกถ่ายอวัยวะ ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ ทั่วถึง และเป็นธรรม สามารถลดอัตราป่วย อัตราตาย ลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอย รวมถึงค่าใช้จ่ายลงได้ แม้อยู่ในสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ด้วยการแพทย์วิถีใหม่ (New Normal Medical Care) เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างสูงสุดต่อไป มีผลงานเชิงประจักษ์ที่แต่ละเขตสุขภาพได้มานำเสนอ
เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประชุมครั้งนี้ เกิดนวัตกรรมในการบริหารจัดการระบบบริการที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ซึ่งความสำเร็จจากผลงานเด่นของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สามารถใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ของตนเองให้ยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดทิศทางการพัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างต่อเนื่องในระยะ 5 ปี ข้างหน้า พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อตอบสนองแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของสังคมและประชากรตลอดจนความต้องการด้านสุขภาพของประเทศได้ทันท่วงที มีกรอบการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในรูปแบบเขตสุขภาพ สร้างความเชื่อมโยงในภาพของเครือข่ายบริการทุกระดับ สามารถรองรับการส่งต่อเพื่อเป็นหลักประกันว่าประชาชนจะเข้าถึงบริการที่ได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นธรรม