กองทุนเงินทดแทน วิธีการขึ้นทะเบียนและการจ่ายเงินของนายจ้าง วันนี้มาทำความรู้จักกับกองทุนเงินทดแทน ในส่วนของภาระหน้าที่ของนายจ้างซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินเข้ากองทุนเพียงฝ่ายเดียวต้องทำอะไรบ้าง ?
เพื่อให้ลูกจ้างได้สิทธิ์ทันทีเมื่อเข้าทำงาน นายจ้างจะต้องรีบยื่นขึ้นทะเบียนกองทุนเงินทดแทนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คน โดยสามารถยื่นแบบขึ้นทะเบียนได้ที่สำนักงานประกันสังคม สาขาจังหวัดหรือพื้นที่กรุงเทพมหานครที่สถานประกอบการตั้งอยู่ แต่หากนายจ้างมีสำนักงานหรือว่ามีลูกจ้างทำงานในหลายจังหวัด จะต้องยื่นแบบขึ้นทะเบียนและจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนรวมกันเพียงแห่งเดียวในเขตพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ โดยแจ้งรายละเอียดที่ตั้งและจำนวนลูกจ้างของสาขาไว้ด้วย
สำหรับนายจ้างที่จะไปยื่นขึ้นทะเบียนจะต้องเตรียมเอกสารคือ
1.แผนที่ตั้งและภาพถ่ายของสถานประกอบกิจการ
2.หลักฐานแสดงตัวนายจ้าง
3.หนังสือมอบอำนาจ แนบสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจ
4.หนังสือสัญญาเช่า หรือหนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่ (เฉพาะกรณีบุคคลธรรมดา)
เมื่อยื่นเอกสารเสร็จเรียบร้อยแล้วนายจ้างจะได้รับ
1.หนังสือแจ้งผลการขึ้นทะเบียนที่ระบุเลขที่บัญชี ซึ่งจะเป็นเลขเดียวกับกองทุนประกันสังคม เพื่อใช้อ้างอิงในการติดต่อ
2.ใบประเมินเงินสมทบ เพื่อแจ้งให้นายจ้างทราบถึงจำนวนเงินสมทบที่จะต้องจ่ายเข้ากองทุนเงินทดแทน และวันที่ครบกำหนดชำระ
3.หนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียน เพียงเท่านี้ก็เสร็จขั้นตอนการยื่นเอกสารขึ้นทะเบียนกองทุนเงินทดแทนแล้ว
สำหรับการจ่ายเงินสมทบประจำปีของนายจ้าง กองทุนเงินทดแทน จะเรียกเก็บ เป็นรายปี (ปีละ 1 ครั้ง) โดยในปีแรก นายจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1คน ส่วนปีต่อๆ ไปให้จ่ายภายใน เดือนมกราคมของทุกปี โดยคิดมาจากจำนวนเงินค่าจ้างที่ประมาณการไว้ล่วงหน้า ซึ่งอาจไม่เท่ากับค่าจ้างจริงที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากในระหว่างปีนายจ้างอาจมีการเพิ่มหรือลดจำนวนลูกจ้าง ปรับอัตราค่าจ้าง เป็นต้น
ดังนั้น ในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี นายจ้างต้องแจ้งจำนวนค่าจ้างรวมทั้งปีของปีที่ผ่านมาไปยังสำนักงานประกันสังคมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้นำไปเปรียบเทียบกับเงินสมทบที่เก็บไว้เมื่อต้นปี หากจำนวนค่าจ้างจริงของปีที่ผ่านมาสูงกว่าค่าจ้างที่ประมาณไว้ ก็จะเรียกเก็บเพิ่มภายใน 31 มีนาคม แต่หากต่ำกว่าที่ประเมินไว้ นายจ้างก็จะได้รับเงิน สมทบส่วนที่จ่ายเกินคืน และการรายงานค่าจ้าง นายจ้าง ต้องรายงาน ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี การไม่รายงานค่าจ้างภายในกำหนด อาจมีผลทำให้นายจ้างต้องชำระเงินเพิ่ม หากเงินที่เรียกเก็บในปีที่ผ่านมาต่ำไป แล้วถ้านายจ้างรายคนใดไม่จ่ายเงิน สมทบภายในเวลาที่กำหนดหรือจ่ายเงินสมทบไม่ครบจะต้องเสียเงินเพิ่มอีก ในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของเงินสมทบที่ต้องจ่าย
กิจการใดบ้าง ? ที่ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน
คำตอบ คือ
1.ราชการส่วนกลาง,ส่วนภูมิภาค,ส่วนท้องถิ่น เฉพาะข้าราชการหรือลูกจ้างประจำ
2.รัฐวิสาหกิจ
3.รัฐบาลต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ สำหรับลูกจ้างซึ่งไม่ใช่เป็นการจ้างงานในประเทศ และ นายจ้างอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง