28 มกราคม 2564 – กรุงเทพฯ / ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เปิดตัวโครงการ “เมกกะแฮกกาธอน (Mega-Hackathon)” ส่งเสริมให้เยาวชน นิสิต นักศึกษา ใช้พลัง “จินตนาการ” ผสาน “เทคโนโลยีและนวัตกรรม” สร้างสรรค์ผลงานตอบโจทย์ประเทศ เพื่อขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน พร้อมชวนนิสิต นักศึกษาทั่วประเทศ สมัครร่วมโครงการฯ ตั้งเป้า 8,000 นิสิตนักศึกษาเข้าร่วม ปั้น 400 ไอเดียธุรกิจสตาร์ทอัพ
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวในฐานะประธานงานแถลงข่าวว่า “โครงการ “เมกกะแฮกกาธอน (Mega-Hackathon)” เป็น 1 ใน 5 โครงการสำคัญของ อว. ที่จะดำเนินการให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี และเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้เยาวชน ได้ร่วมกันระดมความคิดเพื่อสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมที่จะมาแก้ปัญหาและตอบสนองต่อนโยบายการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจและประเทศชาติ โดยใช้เทคโนโลยี เครื่องมือทางไอที และโลกไซเบอร์มาเป็นตัวช่วยคิด สร้างงาน และสร้างนวัตกรรม ผ่านกิจกรรม Startup Thailand League 2021 ที่ปีนี้มาในรูปแบบ MEGA HACKATHON ใน 9 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และตั้งเป้าสร้างสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ในกลุ่มนิสิตนักศึกษากว่า 8,000 คน เกิดไอเดียธุรกิจและการพัฒนาแผนงานธุรกิจมากกว่า 400 ไอเดีย ภายในปีนี้”
โครงการ STARTUP THAILAND LEAGUE 2021: “MEGA HACKATHON” ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญ เป็นโอกาสทองสำหรับเยาวชนที่จะได้เพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์ สามารถต่อยอดแนวความคิดเพื่อสร้างธุรกิจจริงได้ โดย อว. มุ่งหวังให้ทุกคนได้ร่วมกันเสนอปัญหา ระดมสมองและความคิดในทางสร้างสรรค์ เพื่อหาโมเดลต้นแบบมาแก้ปัญหาให้กับประเทศ และรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน เพราะเยาวชนคือผู้กำหนดอนาคตของประเทศ ที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปด้วยกัน”
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า “NIA ได้รับมอบหมายจาก อว. ให้เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนระบบนิเวศสตาร์ทอัพของไทย (Thailand Startup Ecosystem) ตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งหนึ่งในแผนการส่งเสริมสตาร์ทอัพของประเทศ คือการเพิ่มบทบาทของสถาบันการศึกษาในการสร้างความตระหนักและบ่มเพาะสตาร์ทอัพ รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี ให้แก่นิสิต นักศึกษา เพื่อให้สถาบันการศึกษาเป็นแหล่งสร้างสรรค์ความคิดและนวัตกรรม โดยพยายามผลักดันให้สถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ (Entrepreneurial Universities) นอกจากนั้น ยังมุ่งพัฒนาผู้นำนวัตกรรมรุ่นใหม่ ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงอายุน้อยให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ ผ่านแพลตฟอร์ม STEAM4Innovator ภายใต้สถาบันวิทยาการนวัตกรรม หรือ NIA Academy เพื่อเป็นเวทีให้เยาวชนสามารถสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมผ่านการบูรณาการความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ และศิลปศาสตร์เข้าด้วยกัน
ทั้งนี้ NIA ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ ดำเนินโครงการ STARTUP THAILAND LEAGUE ขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี 2560 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนนิสิต นักศึกษาทั่วประเทศให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพ ตลอดจนทรัพยากรที่จะส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมจากความคิดสร้างสรรค์ นำไปสู่การเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพได้ ซึ่งประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่ การอบรม Coaching Camp ภายใต้ระบบพี่เลี้ยง (Mentor) เพื่อสร้างความเข้าใจในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมของสตาร์ทอัพ และกิจกรรม Pitching STARTUP THAILAND LEAGUE เป็นการประกวดแข่งขันไอเดียแผนงานธุรกิจสตาร์ทอัพของนิสิต นักศึกษา ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ ซึ่งตลอด 4 ปีที่ผ่านมา มีนิสิต นักศึกษาทั่วประเทศเข้าร่วมจำนวน 60,800 คน ผ่านการอบรมในกิจกรรม Coaching Camp
มีการประกวดแข่งขันไอเดียแผนงานธุรกิจสตาร์ทอัพของนิสิต นักศึกษา รวม 2,740 ทีม (ไอเดีย) และมีการจัดกิจกรรม Hackathon ที่รวมยอดนักคิด นักพัฒนานวัตกรรม เพื่อเฟ้นหาแนวคิดหรือนวัตกรรมที่นำไปใช้เชิงพาณิชย์ได้จริงที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในงาน STARTUP THAILAND และยังมีการแข่งขันในหัวข้อเฉพาะมาอย่างต่อเนื่อง”
นายปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม NIA กล่าวถึงการดำเนินงานในปีนี้ว่า โครงการ STARTUP THAILAND LEAGUE 2021 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด MEGA HACKATHON “เวทีเยาวชน ระดมสมองและความคิดในทางสร้างสรรค์” เพื่อตอบโจทย์ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ สอดรับนโยบาย “โครงการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน” ของท่าน รมว.อว. โดยร่วมกับ 40 มหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ จัดกิจกรรมอบรมบ่มเพาะ Coaching Camp และกิจกรรมประกวดแข่งขัน Pitching STARTUP THAILAND LEAGUE ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน 2564 นี้ รวมทั้งยังมีกิจกรรมการจัดแสดงผลงานต้นแบบ จาก “IDEA สู่ Prototype” ของนิสิต นักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกและสนับสนุนงบประมาณ เพื่อสร้างโอกาสสำคัญในการนำเสนอแนวคิดและแสดงผลงานต่อกลุ่มนักลงทุน และผู้ที่สนใจธุรกิจสตาร์ทอัพ ในช่วงเดือนสิงหาคมอีกด้วย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ 02-017-5555 ต่อ 209 (คุณสนามชัย แพนดี)