เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 12 พ.ย. 2567 ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น โฮเทล จ.นนทบุรี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคีเครือข่าย จัดงานแถลงสถานการณ์ “12 ปี การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เพื่อวิถีชีวิตสุขภาวะของคนไทย” เพื่อสะท้อนสถานการณ์และการขับเคลื่อนการมีกิจกรรมทางกาย รวมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการออกแบบและกำหนดทิศทางการส่งเสริมและสนับสนุนการมีกิจกรรมทางกายอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม สร้างระบบกลไกการสนับสนุนการมีกิจกรรมทางกาย ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง นำไปสู่การผลักดันนโยบายระดับประเทศ
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า โรคไม่ติดต่อ (NCDs) เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 เฉลี่ย 3 แสนคนต่อปี คิดเป็น 75% ของสาเหตุการตายทั้งหมด ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูง 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยง เช่น บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ รับประทานอาหารไม่ถูกหลักตามโภชนาการ ที่สำคัญขาดการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านกิจกรรมทางกายของคนไทยในรอบ 12 ปี (ปี 2555-2566) พบระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอต่ำกว่า 70% สะท้อนว่ายังมีคนไทยกว่า 30% ไม่สามารถมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอได้ โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งส่งผลให้สถานการณ์แย่ลง เนื่องจากไม่สามารถทำกิจกรรมนอกบ้านได้ จึงจำเป็นต้องเร่งสานพลังความร่วมมือส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอตอบโจทย์เป้าหมายของแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2561-2573 เพิ่มอัตราการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของคนไทยให้อยู่ที่ 85% ภายในปี 2573
“สสส. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย เร่งขับเคลื่อนกลยุทธ์การส่งเสริมและการสนับสนุนการมีกิจกรรมทางกาย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้ทุกคนเข้าถึงกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอ ผ่าน 3 มาตรการ 1.รณรงค์ส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายอย่างต่อเนื่อง โดยออกแบบมาตรการให้เหมาะสมตามบริบทของชุมชน เช่น ‘Healthy city เมืองน่าอยู่ เมืองสุขภาพดี’, ‘ลานสร้างสุขภาวะชุมชน’ 2.จัดการสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก สถานที่ และพื้นที่สาธารณะอย่างปลอดภัย เช่น ‘พัก กะ Park พื้นที่สุขภาวะแบบมีส่วนร่วม’, ‘สวน 15 นาที สวนสาธารณะใกล้บ้าน’ 3.จัดกิจกรรมและบริการด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมและหลากหลาย เช่น ‘Healthy Organization องค์กรสุขภาพดี’, ‘Healthy+Active Meeting การประชุมสุขภาพดี’ ” เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีวิถีชีวิตที่กระฉับกระเฉง พัฒนานวัตกรรม และสร้างโอกาสในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว
รศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา ผู้อำนวยการศูนย์ TPAK กล่าวว่า ประชากร 5 กลุ่มที่กำลังเผชิญความเหลื่อมล้ำทางโอกาสเข้าถึงการมีกิจกรรมทางกาย 1.กลุ่มผู้สูงอายุ มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ 60% 2.กลุ่มที่มีรายได้น้อย มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ 59% 3.กลุ่มผู้ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพหรือไม่ทำงาน มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ 46.5% 4.กลุ่มผู้หญิง มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ 40% ซึ่งเป็นกลุ่มที่น่าห่วง เนื่องจากตกอยู่ในภาวะขาดกิจกรรมทางกายที่เพียงพอกว่า 16 ล้านคน โดยเฉพาะผู้หญิงที่เป็นแม่บ้านดูแลครอบครัวและลูก ผู้หญิงที่มีรายได้น้อย ขาดความมั่นใจหรือกังวลเรื่องการถูกตีตราจากสังคม เช่น เล่นกีฬาไม่เป็น/ไม่เก่ง ไม่มั่นใจในรูปร่างหรือมีภาวะอ้วน มีอุปสรรคในการขยับเคลื่อนไหวร่างกาย โดยเฉพาะในเขตชนบท 5.กลุ่มเด็ก มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ 20% เทียบเท่ากับ 4 ใน 5 คน มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ กระทบต่อการเรียนรู้ในระยะยาว
“การติดตามประเมินผลการมีกิจกรรมทางกาย และภาวะเนือยนิ่งที่ทันต่อสถานการณ์จำเป็นอย่างยิ่ง การใช้ข้อมูลเชิงวิชาการสนับสนุนการขับเคลื่อนทางนโยบาย และกลยุทธ์การสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง ให้ตรงกับแต่ละกลุ่มเป้าหมายจะช่วยเพิ่มระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอให้กับประชากรในประเทศ ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย www.tpak.or.th/th” ผู้อำนวยการศูนย์ TPAK กล่าว