กรุงเทพฯ – 11 กรกฎาคม 2567 – มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (UTCC) และหัวเว่ย ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญในการยกระดับสถาบันการศึกษาสู่ยุค AI Integrated University โดยมีการลงนามข้อตกลงในโครงการ Huawei ICT Academy เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะด้านเทคโนโลยีขั้นสูงให้แก่นักศึกษาและบุคลากร
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวในโอกาสลงนามความร่วมมือทางวิชาการว่า หัวเว่ยถือเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ที่ร่วมกันยกระดับนวัตกรรมภายในมหาวิทยาลัย โดยล่าสุด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นองค์กรการศึกษาแห่งแรกในเอเชียแปซิฟิก ที่ติดตั้ง Wifi 7 และได้เริ่มใช้งานเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เพื่อยกระดับประสบการณ์การเรียนการสอนและการทำงานให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์การบูรณาการการทำงานของมหาวิทยาลัย โดยใช้ AI มาช่วยขับเคลื่อน สู่การเป็น AI Integrated University เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาสู่การทำงานกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการยกระดับความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาทักษะและความรู้ด้าน ICT และ AI ผ่านหลักสูตรการเรียนการสอน การฝึกอบรม การวิจัย และกิจกรรมอื่นๆ ผ่านโครงการ Huawei ICT Academy การที่นักศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรหลังจากสอบผ่านการฝึกอบรมออนไลน์แล้ว จะเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับนักศึกษาของเราที่มีเป้าหมายในการร่วมงานกับองค์กรด้านเทคโนโลยีทั้งในและต่างประเทศ เราเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะส่งผลดีต่อนักศึกษาและบุคลากรของเรา ช่วยให้พวกเขาได้พัฒนาทักษะและความรู้ที่จำเป็นสำหรับการทำงานในยุคดิจิทัล และสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาธุรกิจ องค์กร และสังคมของเราให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
ดร.ชัชชัย หวังวิวัฒนา, UTCC AI Master และผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวในการบรรยายพิเศษหัวข้อ Building AI workforce for the future ว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเป็นผู้นำด้านการเรียนการสอนทางด้านดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเรายังคงเน้นย้ำเรื่องของการความเป็นผู้นำทางด้านดิจิทัลอยู่เสมอ เช่น การมอบ iPad พร้อมเครื่องมือทาง AI เช่น Canva Pro และ Chatbot สำหรับวิเคราะห์ YouTube และฝึกภาษาอังกฤษให้กับนักศึกษา ติดตั้งห้องเรียนอัจฉริยะ 65 ห้อง เปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าถึงบทเรียนได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ “หอคอยด์” (UTCC Coin) เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และกิจกรรมในมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะด้าน AI อย่างจริงจัง “นักศึกษาทุกคน ทุกสาขาวิชา ได้รับการพัฒนาทักษะด้าน AI ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 ผ่านวิชาปัญญาประดิษฐ์สำหรับธุรกิจ (AI for Business) ซึ่งนักศึกษาสามารถใช้ AI ในการทำ Visual influencer, วางแผนการตลาด, ผลิตสื่อดิจิทัล และสร้าง chatbot ได้”
ดิจิทัลทรานสคริปต์ที่นำเสนอเพียงผลการเรียนรายวิชายังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน UTCC พัฒนาระบบ Soft Skill Transcript เพิ่มเติมให้นักศึกษาทุกคน รวมถึงแอพพลิเคชัน Career Sync ที่แสดงจุดแข็งและทักษะของนักศึกษาแต่ละคน พร้อมระบบสมัครงานในแอพเดียว
การขับเคลื่อนขนาดใหญ่แบบนี้ได้อย่างต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจัดตั้งทีม AI Champion ทั้งสิ้น 93 คน ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ที่ผ่านการอบรมอย่างเข้มข้น เพื่อขับเคลื่อนการใช้ AI ทั่วทั้งองค์กร และวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม
ด้านความปลอดภัยและจริยธรรม UTCC ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยมีการกำหนดนโยบายการใช้งาน AI และระบบตรวจจับการใช้งาน ChatGPT และยังได้พัฒนาระบบ UTCC Private ChatGPT สำหรับอาจารย์และเจ้าหน้าที่ เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบและมีประสิทธิภาพ
นายวิลเลี่ยม จาง ประธานธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า งานอัพเดทเทคโนโลยีที่หัวเว่ยจัดขึ้นกับองค์กรต่างๆเพื่อหวังเตรียมความพร้อมบุคลากรและยกระดับประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีให้องค์กรสามารถก้าวสู่ดิจิทัลได้อย่างราบรื่น ซึ่งสำหรับงานในครั้งนี้ หัวเว่ยได้นำเสนอข้อมูลและเทรนด์ที่น่าสนใจสำหรับการเปลี่ยนแปลงดิจิทัลในสถานศึกษาซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงจากการนำดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้งานเฉพาะบางส่วนสู่การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดให้รองรับการทำงานแบบอัจฉริยะ ซึ่งหัวเว่ยมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์เทคโนโลยีไอซี ทีที่หลอมรวมไอซีทีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบการเชื่อมต่อ การประมวลผลบนคลาวด์ บิ๊กดาต้า และปัญญาประดิษฐ์เข้ากับกระบวนการการศึกษาทั้งหมด เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมในการเรียนการสอน การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การจัดการ และบริการ
พร้อมทั้งนำเสนอข้อมูลเจาะลึกในการนำเทคโนโลยีไร้สายที่ดีที่สุดในอุตสาหกรรมขณะนี้อย่าง “AirEngine Wi-Fi 7” ด้วยความเร็วการรับส่งข้อมูลที่รวดเร็ว ราบรื่น ไม่มีสะดุด ด้วยการผสานช่องสัญญาณทั้ง 3 ย่านความถี่ 2.4, 5 และ 6 กิกะเฮิรตซ์ ให้ความเร็วสูงสุดถึง 10 กิกะเฮิรตซ์ และแบนด์วิธที่มีความครอบคลุมเพิ่มมากขึ้น แม้ในจุดที่เคยอับสัญญาณ แต่ด้วยประสิทธิภาพของ AirEngine Wi-Fi 7 จะช่วยทำให้นักศึกษา ตลอดจนบุคลากรต่างๆ ในมหาวิทยาลัยสามารถเข้าถึงคลาสเรียน หรือใช้เน็ตเวิร์คเพื่อการเรียนรู้รูปแบบใหม่ๆ ได้อย่างราบรื่น เพื่อการสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ไร้ขอบเขต ตอบโจทย์การเรียนการสอนยุคอัจฉริยะ เช่น เมตาเวิร์ส และการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีเออาร์/วีอาร์
“เราต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่เปิดโอกาสให้หัวเว่ยได้เข้ามามีส่วนร่วมในภารกิจของการก้าวสู่ยุคใหม่อย่าง AI ในครั้งนี้ เพราะแน่นอนว่าไม่การพัฒนาจะก้าวหน้าไปอย่างไร แต่สิ่งสำคัญคือการมีรากฐานที่แข็งแกร่ง ซึ่งในโลกของเทคโนโลยี การมีโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่ดีเพียงพอก็ยิ่งทำให้องค์กรได้ ต่อยอดสิ่งต่างๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น เหมือนที่หัวเว่ยได้นำเสนอ AirEngine Wi-Fi 7 ที่เป็นเน็ตเวิร์คไร้สายที่ดีที่สุดในอุตสาหกรรมตอนนี้”
ในโอกาสนี้ หัวเว่ยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังได้ประกาศลงนามข้อตกลงความร่วมมือในโครงการ Huawei ICT Academy ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันในการพัฒนาความรู้ในด้านของเทคโนโลยีและส่งเสริมการพัฒนานักศึกษาให้มีความรู้ความสามารถในด้านเทคโนโลยีขั้นสูง เตรียมความพร้อมในเทคโนโลยีเฉพาะทาง พร้อมก้าวเข้าสู่สายอาชีพในภาคอุตสาหกรรม